โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไทยเร่งศึกษา'วัคซีนพาสปอร์ต'นำร่อง 10 ประเทศอาเซียน

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 17 มี.ค. 2564 เวลา 09.49 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. 2564 เวลา 09.46 น.

    เวลา 15.00 น.  17 มี.8. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย และ “วัคซีนโควิด19” ว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 88 ปี ไม่ได้เดินทางออกนอกบ้านมากมายนัก  มีโรคประจำตัว ไตวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  เมื่อวันที่ 25 ก.พ. เริ่มป่วย ไอ หายใจเหนื่อย ต่อมาวันที่ 27 ก.พ. ไปตรวจที่รพ.เอกชนกทม. เอ็กซเรย์ปอดผิดปกติ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. เหนื่อยมากขึ้น ตรวจพบติดโรค “โควิด19” ใส่เครื่องช่วยหายใจ  อาการไม่ดีขึ้น ทรุดลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2564 สิ่งที่ได้เรียนรู้กรณีนี้คือความเสี่ยงชี้ชัดได้ไม่ชัดเจน จะต้องป้องกันให้ดีไว้ก่อน
กลุ่มเป้าหมายฉีด“วัคซีนโควิด19”แล้ว 58 %
        นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ผู้ได้รับ “วัคซีนโควิด19”ของประเทศไทยสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-16 มี.ค.2564 จำนวน 53,842 ราย คิดเป็น 58%ของกลุ่มเป้าหมายเข็มแรกในล็อตแรก แยกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ / สาธารณสุข รวมอสม.30,853 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,036 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 2,814 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 14,137 ราย ไม่มีอาการข่างเคียงที่รุนแรง 
 

เร่งศึกษา “วัคซีนพาสปอร์ต”10 ประเทศอาเซียน

            นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการศึกษาวิจัย “วัคซีนโควิด19” เพื่อประโยชน์ของคนไทยว่า คณะทำงานวิชาการด้านการบริหารจัดการและการศึกษาการให้บริการวัคซีน ได้วางกรอบการทำงานด้วยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ ที่เกี่ยวกับ“วัคซีนโควิด19”  เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ผ่านการรับรองแล้ว มีความปลอดภัย  เกิดภูมิต้านทานโรค และเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม  โดยมีกรอบการศึกษาวิจัยในประเทศไทย 6 ด้าน ได้แก่  1.นโยบาย/ระบบการให้วัคซีน แล้วจะเปิดประเทศอย่างไร เช่น เรื่องผลข้างเคียงต่อระบบประสาท โดยกรมการแพทย์ และเรื่อง“วัคซีนพาสปอร์ต” ดำเนินการโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ  ไฮแทป   ศึกษาว่าหากจะต้องมีการเดินทาง หากฉีด “วัคซีนโควิด19”แล้วยังต้องตรวจโรคก่อนเดินทางหรือไม่ จะต้องเดินทางภายในกี่เดือน  กี่ประเทศรับรอง ซึ่งเริ่มทำการศึกษาวิจัยแล้วใน 10 ประเทศอาเซียน อีก 1-2 เดือน ไฮแทปจะมีข้อมูลเบื้องต้นรายงานว่าเมื่อศึกษากับ 10 ประเทศอาเซียนแและประเทศไหนมีข้อกำหนดแบบไหนอย่างไรบ้าง

           2.ประสิทธิผล/ภูมิคุ้มกัน เพื่อดูว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ประเทศไทยใช้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นกี่มากน้อย  โดยภูมิคุ้มกันในประชากรทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภูมิคุ้มกันในบุคลากรสาธารณสุข ศิริราชพยาบาล ภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทดแทนไต รามาธิบดี และภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง กรมการแพทย์ เพื่อดูว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีนักเมื่อฉีดวัคซีนแล้วภูมิต้านทานจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในอีก 1-2 เดือน ข้างหน้าเรื่องภูมิจะออกมาได้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าผลของการใช้วัคซีนในคนไทยจะได้ผลเหมือนในต่างประเทศหรือไม่

       3.การบริหารแผนงาน เรื่อง ระยะเวลากักตัวที่เหมาะสม โดยกรมการแพทย์ 4.การประกัน ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการอยู่แล้ว 5.การสื่อสารสู่สาธารณะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ และ6.การติดตามเชื้อกลายพันธุ์ของไวรัส โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต่อยอดจากการศึกษาในต่างประเทศว่าจะมีเข้ามาสู่ประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน   โดยได้รับเงินทุนการสนับสนุนวิจัยเบื้องต้นจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) แล้วประมาณ 50 ล้านบาท
          ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ข้อเสนอแนะระดับนโยบายที่ปฏิบัติได้ หัวข้อการวิจัยที่จะเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงาน ผลการวิจัยเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจระดับนโยบาย อาทิ วัคซีนพาสปอร์ตระหว่างประเทศ ระยะเวลาเหมาะสมที่กักตัว ระดับภูมิคุ้มกันในคนไทย และผู้ป่วยเฉพาะโรค เมื่อใช้วัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเป็นอย่างไร จะมีการปรับหรือเลือกใช้ “วัคซีนโควิด19”ชนิดไหนต่อไปในอนาคตที่เหมาะกับคนไทย และเครือข่ายนักวิจัย เป็นต้น
เตียงเพียงพอรองรับ “คลัสเตอร์ตลาดบางแค”
     นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ “คลัสเตอร์ตลาดบางแค” ยืนยันว่ายังมีเตียงเพียงพอที่จะนำผู้ที่ตรวจพบติดเชื้อทุกรายเข้ารับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล  โดยพื้นที่กทม.มีเตียงทั้งหมด  1,867 เตียง ใช้แล้ว 274 เตียง ยังว่างอีก 1,593 เตียง  นอกจากนี้ ยังวางแผนเขยายเตียงพิ่มเติมที่รพ.ราชวิถี 2  รพ.นพรัตน์  และรพ.บางขุนเทียน เป็นต้น

ฮู-อียูให้ฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ต่อไป
         นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการใช้ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”หลังจากที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีการชะลอการฉีดหลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือด พบว่า ข้อมูลล่าสุดที่องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปหรือ EMA ได้ออกมาให้ข้อมูลว่ายังไม่พบข้อมูลที่จะยืนยันว่าภาวะเกิดลิ่มเลือดจะเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน และหน่วยงานด้านควบคุมกำกับด้านยาของสหราชอาณาจักร ระบุว่าอัตราการเกิดลิ่มเลือดในผู้ได้รับวัคซีนนี้ พบได้ต่ำกว่าในประชากรทั่วไป จึงยังไม่มีมีข้อบ่งชี้ว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะมาจากวัคซีน ฮูและEMAยังแนะนำให้ทุกประเทศฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ให้กับประชาชนทั่วไป
         “ขอให้ประชาชนไทยมั่นใจจะได้เริ่มการฉีดวัคซีนใน 2 ชนิดที่ประเทศไทยนำมาใช้ในขณะนี้ คือ ซิโนแวคที่มีข้อบ่งชี้การใช้กับกลุ่มประชากร 18-60 ปี และ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ที่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีข้อมูลการฉีดวัคซีนอย่างมาก เพราะว่า ประเทศแถบยุโรป  สหราชอาณาจักรมีการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในผู้สูงอายุเป็นกลุ่มต้นๆ และในสหราชอาณาจักรมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมากกว่า 16 ล้านโดส เพราะฉะนั้นข้อมูลด้านความปลอดภัย วัคซีนมีผลในการชะลอโรค ชะลอการป่วยรุนแรง เมื่อสหราชอาณาจักรมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆจะเห็นแนวโน้มของโรคดีขึ้น คือจำนวนการป่วยลดลง”นพ.นครกล่าว

อัตรา“ฉีดวัคซีนโควิด19”ไทยพุ่งสูงตั้งแต่มิ.ย.   
    นพ.นคร กล่าวอีกว่า  ประเทศไทยได้มีการจัดหาวัคซีนทั้งของซิโนแวคในช่วงไตรมาส1-2 ของปี 2564  คือ ก.พ.-พ.ค.จะมีวัคซีนแม้ว่าจำนวนจำกัดเป็นสถานการณ์ทั่วโลกว่าวัคซีนยังมีอยู่จำกัด การผลิตวัคซีนก่อนหน้ายังทำได้น้อย  ซึ่งที่ได้มีการติดต่อมีเพียงวัคซีนซิโนแวคเท่านั้นที่สามารถจัดส่งให้ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนในช่วงไตรมาส1-2 เพื่อนำมาใช้เป็ฯมาตรการเสริม ในการจัดการระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ระบาด ควบคู่กับมาตรการป้องกันโรคที่วางไว้และทำได้อย่างเข้มแข็ง  แต่เมื่อจำนวนวัคซีนมีมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน จะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนจำนวนมาก ได้ตั้งแต่มิ.ย.เป็นต้นไป ก็จะสามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้

    “ข้อกังวลว่าประเทศไทยฉีด “วัคซีนโควิด19”ได้ล่าช้า เป็นข้อจำกัดจากจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสถานการณ์พบได้เหมือนกับประเทศอื่น แต่ถ้าจะเทียบกับประเทศที่มีการจองซื้อไว้ล่วงหน้าจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศหลายเท่าตัวคงเทียบกันไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเดือนมิ.ย.เป็นต้นไปอัตราฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่จะอุ่นใจได้ในการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไป และแม้ว่าการเข้ารับวัคซีนของคนไทยจะเป็นสิทธิ   แต่ถ้าถือเป็นหน้าที่ด้วย เหมือนกับการสวมหน้ากากที่ไม่ได้ยังคับแต่คนไทยก็ร่วมมือ ก็จะทำให้ไทยสามารถปิดจบการระบาด “โควิด19”ได้ในเวลารวดเร็ว ควบคู่กับมาตารการป้องกันโรคที่ดีอยู่แล้ว”นพ.นครกล่าว  

“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ฉีดได้ตั้งแต่อายุ18ปีขึ้นไป  
    นพ.นคร กล่าวอีกว่า การกำหนดกลุ่มอายุในการรับวัคซีนชนิดใดนั้น มาจากการวิจัยในคนระยะที่ 3 ว่ามีการทดลองในกลุ่มอายุใด เมื่อมาขึ้นทะเบียนก็จะอนุญาตให้ใช้ในกลุ่มอายุตามที่มีการวิจัยก่อน ระหว่างนั้นก็มีการเก็บข้อมูลอายุไปเรื่อยๆ ซึ่งวัคซีนซิโนแวค วิจัยในผู้ที่อายุ 18-60 ปี เมื่อขึ้นทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็อนุญาตให้ใช้ในคนอายุ 18-60 ปี แต่ถ้าอนาคตมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมถ้าผลในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่างจากคนอายุ 18-60 ปีก็จะอนุญาตให้ใช้ได้ ก็จะทำให้ไทยขยายกลุ่มอายุใช้ซิโนแวคได้ด้วย  ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า การวิจัยในคนระยะที่ 3  ไม่ได้กำหนดกลุ่มอายุ และมีผู้สูงอายุจำนวนพอสมควร  อย.จึงอนุญาตให้ใช้ได้ตามกลุ่มอายุที่ทดลอง คือ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุไม่ว่าอายุเท่าไหร่
    “เพียงแต่ช่วงนี้ที่มีวัคซีนจำกัด  และไทยมีวัคซีนซิโนแวคมากก็ให้ใช้ซิโนแวคในกลุ่มคนมากก่อน ส่วนแอสตร้าฯมีจำนวนวัคซีนน้อยก็เน้นกลุ่มผู้สูงอายุก่อน แต่ไม่ได้เหมายความว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะใช้ได้เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น  แต่ใช้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป  และเมื่อมีวัคซีนทยอยส่งมอบให้ไทยมากขึ้นตั้งแต่มิ.ย.นี้ ไทยก็จะฉีดวัคซีแอสตร้าาในทุกกลุ่มอายุแน่นอน ตามแผนการดำเนินการของกรมควบคุมโรคที่ทยอยฉีดตามกลุ่มประชากรที่วางแผนไว้”นพ.นครกล่าว

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น