ฝุ่นละออง ซึ่งเป็นอนุภาคของแข็งขนาดเล็กที่ล่องลอยในอากาศหรือในน้ำ เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไอเสียชองรถยนต์ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า โรงงานผลิตถ่านหิน หรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง มีส่วนทำให้ฝุ่นละอองในอากาศจำนวนมากโดยเฉพาะ PM2.5 ที่มักจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงอากาศเย็นลง
ที่ผ่านมา กรมอนามัย แสดงความห่วงใย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง โดยเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่จัดเตรียมไว้ และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคาร การจัดการคุณภาพอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันตนเองจากการสัมผัส PM2.5 และหนึ่งในวิธีการจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย คือ การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีให้เลือกมากมายในท้องตลาดตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักหมื่น
รศ.ดร.ศิศีโรตม์ เกตุแก้ว
ขณะเดียวกัน เครื่องฟอกอากาศฝีมือคนไทย ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสนับสนุนผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย โดย รศ.ดร.ศิศีโรตม์ เกตุแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้คิดค้น “เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยสนามไฟฟ้าโคโรนา” รางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี 2556 สู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ และพัฒนาเซลล์กรองอากาศภายในเพื่อดักฝุ่นละออง แก้ปัญหาฝุ่นละออกขนาดเล็ก กลายเป็น “เครื่องกำจัดกลิ่นและกรองอากาศ” ราวปี 2560 ที่สามารถกำจัดกลิ่นเหม็น อับชื้น กลิ่นสัตว์เลี้ยง กลิ่นอาหาร ฯลฯ ด้วยก๊าซโอโซน และประจุไฟฟ้า
กำจัดเชื้อโรค ยับยั้งและทำลายการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา แบคทีเรีย ที่แปลกปลอมมากับอากาศ ที่เป็นต้นเหตุของโรคทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ฯลฯ และดักฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ล่องลอยในอากาศได้กว่า 70% ไม่ก่อให้เกิดก๊าซพิษตกค้างในอากาศ แผ่นกรองสามารถถอดล้างทำความสะอาดได้โดยไม่ต้องถอดทิ้ง
เครื่องกำจัดกลิ่นและกรองอากาศ
ทั้งนี้ เครื่องกำจัดกลิ่นและกรองอากาศ ดังกล่าว ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) ที่งาน Korea Cyber International Genius Inventor Fair (CIGIF 2015) สาธารณรัฐเกาหลี , รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ Honor of Invention (WIIPA), 2015 TCIYIE, Taiwan
รศ.ดร.ศิศีโรตม์ อธิบายว่า วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุภายในประเทศทั้งหมด ดังนั้น หากมีปัญหาอะไรสามารถซื้อเปลี่ยนได้ในราคาถูกและซื้อได้ตลอดเวลา สามารถถอดล้างเองได้ ปัจจุบัน หากมีบุคคลทั่วไปสนใจสั่งซื้อสามารถติดต่อมาได้โดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุนำไปติดตั้งที่บ้าน รวมถึง สำนักงานต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา
นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับความสนใจจากภาครัฐ โดยล่าสุด สภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบทุนเพื่อผลิตตัวเครื่องกำจัดกลิ่น ฆ่าเชื้อโรค และกำจัดฝุ่น 70% นำส่งศูนย์ดูแลผู้สูงวัยและเด็กพิการทั่วประเทศ ของ พม. จำนวน 48 เครื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยและเด็กพิการให้ดีขึ้น
“นอกจากนี้ ช่วงโควิดที่ผ่านมา ได้ผลิตเครื่องกำจัดกลิ่นและกรองอากาศ มอบให้แก่ รพ.ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล และวัดพระบาทน้ำพุ เพื่อกำจัดกลิ่น และฆ่าเชื้อโรค อีกด้วย” รศ.ดร.ศิศีโรตม์ กล่าว
ขณะเดียวกัน จากปัญหา PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้งานมีความต้องการเครื่องฟอกอากาศที่สามารถให้ดักฝุ่นเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งการพัฒนา “เครื่องฟอกอากาศไฮบริด ด้วยระบบโคโรนาฟิลเตอร์” โดยเพิ่มแผ่นกรองฝุ่น HEPA เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นได้มากกว่า 90% รวมถึง กำจัดกลิ่นและเชื้อโรคได้ รองรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถือเป็นนวัตกรรมไทยที่ผ่านมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยในการใช้งาน ใช้งานได้จริง และในอนาคตจะได้ดำเนินการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
เครื่องฟอกอากาศไฮบริด ด้วยระบบโคโรนาฟิลเตอร์
และล่าสุด มีการพัฒนา “เครื่องจำกัดเชื้อโรคในอากาศและพื้นผิววัตถุแบบไฮบริด โดยใช้อิออนโคโรนาร่วมกับ UV-C” ทำงานโดยพ่นประจุ โอโซน และใช้รังสียูวีฆ่าเชื้อโรค ได้รับรางวัลผู้นำนวัตกรรม Master of Innovation และ รางวัลใหญ่ Grand Prize ในงาน Innovation Week IWA2020 Online Edition จากประเทศโมรอคโค ที่ได้รับการรับรองจาก สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA : International Federation of Inventors' Associations) โดยนำเสนอผ่านระบบออนไลน์ ให้แก่คณะกรรมการที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง พร้อมกับนำเครื่องไปทดสอบที่โรงภาพยนตร์ ใช้เวลา 30 นาที สามารถกำจัดเชื้อในอากาศ พรม ที่นั่ง ได้กว่า 90% ขึ้นไป ผลงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นการตอบรับการเดินหน้าด้านนวัตกรรมอย่างมั่นคงของประเทศ
เครื่องจำกัดเชื้อโรคในอากาศและพื้นผิววัตถุแบบไฮบริด โดยใช้อิออนโคโรนาร่วมกับ UV-C
รศ.ดร.ศิศีโรตม์ กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันและอนาคต เทรนด์เกี่ยวกับเชื้อโรคและฝุ่นจะมาเป็นหลัก เพราะฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องสำคัญ และยังเป็นปัญหา ล่าสุด ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน พัฒนาเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐาน โดยเร็วๆ นี้จะมีการส่งไปทดสอบยังศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองทุกปี
“รวมถึง ตั้งเป้าพัฒนาเครื่องที่สามารถกำจัดเชื้อโรค และกำจัดกลิ่นภายในสำนักงาน โรงงาน ที่ประชุม บริษัท บ้านพัก ให้เร็วขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 15 นาที ตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งบางคนไม่ต้องการฟอกอากาศ แต่ต้องการกำจัดเชื้อโรคให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด” รศ.ดร.ศิศีโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ความเห็น 0