โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จับตาผลหลังฉีดวัคซีน ประเมินประสิทธิภาพ-เชื้อกลายพันธุ์

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 23 ก.พ. 2564 เวลา 04.36 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2564 เวลา 02.45 น.

ล่าสุด วานนี้ (22 ก.พ. 64) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงนโยบายการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สู้ภัยโควิด-19 และความร่วมมือการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีน Covid-19 ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 6 ประเด็นการศึกษาวิจัยได้แก่ 1. ด้านนโยบาย และระบบสุขภาพ 2. ด้านประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน 3. ด้านการบริหารแผนงาน 4. ด้านการประกัน ควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย 5. ด้านการสื่อสาร และ 6. ด้าน new variants

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย ประเด็น “ความปลอดภัย และผลกระตุ้นภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด-19 ในประชากรผู้ใหญ่ พร้อมทั้งการจำแนกสายพันธุ์ย่อยของไวรัสและการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ” ระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยใหม่ช่วงหลังปีใหม่กว่า 7 แสนคนต่อวัน ขณะนี้ พบว่าผู้ป่วยลดลงมาเหลือเกือบ 4 แสนคนต่อวัน เพราะด้วยชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และวัคซีน ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการทำการวิจัยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพันธุกรรม โดยการถอดพันธุกรรมมาโดยตลอด รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน มีการเก็บพลาสมาของคนที่หายป่วยโควิด-19 มากพอสมควร และติดตามระบบภูมิคุ้มกัน

“ขณะนี้ มีการติดตามระบบภูมิต้านทานของคนที่หายป่วยโควิด-19 ในระลอกแรก ที่ป่วยในเดือนมี.ค. – เม.ย. 63 จำนวน 250 คน โดยติดตามมาจนถึงปัจจุบันเกิน 9 เดือน เป็นการศึกษาภูมิต้านทานระยะยาวของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในธรรมชาติ ซึ่งพบว่า หลังจากติดตาม 6 เดือน วัดภูมิต้านทานในกลุ่มตัวอย่างได้เพียง 40% นอกนั้นภูมิคุ้มกันหายไป โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยน้อย หรือผู้ที่ป่วยแต่ไม่มีอาการ แต่ผู้ที่เป็นมาก หรือปอดบวม ส่วนใหญ่ภูมิฯ จะยังอยู่ ขณะที่หลังจากนั้น 9 เดือน ภูมิคุ้มกันเหลือเพียง 24% ของกลุ่มตัวอย่าง ตอนนี้รอครบ 1 ปี และตรวจอีกครั้งว่าเหลือเท่าไหร่” ศ.นพ.ยง กล่าว

สำหรับคนที่ฉีดวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค ภูมิฯ จะสูงกว่าคนที่หายป่วยจากโรค 10 เท่า เป็นเหตุผลว่าทำไมวัคซีนของไฟเซอร์จึงมีประสิทธิภาพสูง ขณะเดียวกัน วัคซีนเชื้อตาย ที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ ภูมิฯ เท่ากับคนที่หายป่วยจากโรค แต่ระยะยาวเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าต้องติดตามผลในการฉีดวัคซีน เพื่อดูว่า ภูมิที่เกิดจากวัคซีนจะแตกต่างกับคนที่หายป่วยจากโรคหรือไม่ อย่างไร หรือระยะยาว จะเป็นอย่างไร ต้องกระตุ้นอีกหรือไม่

นอกจากนี้ จากการศึกษาเรื่องวัคซีนมาอย่างยาวนาน พบว่า การฉีดวัคซีนในห้องทดลองทางการศึกษาส่วนใหญ่ ผลของภูมิต้านทานจะสูงกว่าการฉีดในภาคสนาม เพราะในภาคสนามมีตัวแปรในเรื่อง การเก็บรักษา การควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้น ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงต้องไปทำการเก็บข้อมูลการฉีดที่ภาคสนามด้วย

“เรื่องเชื้อกลายพันธุ์ ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย แต่ไม่เปลี่ยนแปลงด้านระบบภูมิคุ้มกันซึ่งยังปกป้องได้ดี แต่โรคแพร่กระจายได้เร็ว จนกระทั่งการกลายพันธุ์ในบราซิลและแอฟริกาใต้ ตำแหน่งของการกลายพันธุ์อยู่ตำแหน่งที่จับกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย หลบหลีกภูมิคุ้มกันของเรา ดังนั้นสายพันธุ์นี้หรือสายพันธุ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นมา จะหลบหลีกวัคซีนได้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังและไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้วัคซีน วัคซีนจะเป็นตัวที่ทำให้ไวรัสหลบหลีก เป็นกฎเกณฑ์ในธรรมชาติ ต้องเฝ้าติดตาม”

ดังนั้น จึงต้องเอามาเปรียบเทียบว่า ภูมิของวัคซีนจริงๆแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน และในอนาคตจะต้องมีการให้ซ้ำหรือไม่ วัคซีนในระยะสั้นป้องกันได้แน่ๆ แต่หากไวรัสมีการหลบหลีกวัคซีน อนาคต ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะต้องมีการกระตุ้นวัคซีนในปีต่อๆ ไป เพราะโรคนี้ มีระยะฟักตัวสั้น ประมาณ 2 – 7 วัน ถือว่าสั้น ไม่เหมือนไวรัสตับอักเสบบีที่มีระยะฟักตัวยาวนาน

“โรคอะไรก็แล้วแต่ที่มีระยะฟักตัวสั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ต้องฉีดวัคซีนซ้ำทุกปี เพราะระยะฟักตัวสั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าต้องติดตามว่าคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว จะเป็นโรคอีกหรือไม่ และคนที่หายแล้ว มีใครมาเป็นซ้ำหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลว่าอนาคตต้องทำอย่างไร”

ศ.นพ. ยง กล่าวต่อไปว่า โดยธรรมชาติหากทำให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน จะมีภูมิต้านทานที่เอฟเฟคต่อตัวไวรัส สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง หากมีอะไรมากดดันมันจะต้องหลีก เป็นธรรมชาติที่หลบหลีกหนีภูมิต้านทานเพื่อการมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การหลบหลีกไปเรื่อยๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ก็ต้องฉีดวัคซีนไปเรื่อยๆ ทุกปี ขณะเดียวกัน เรารู้ว่าการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ช้ากว่าไข้หวัดใหญ่ประมาณ 5 เท่า แต่ก็ไม่รู้ว่าหลังจากใช้วัคซีน จะสามารถกดทำให้โควิดสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเร็วขึ้นหรือไม่  

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีประชาชนหลายคนที่มีความกังวลในเรื่องของผลข้างเคียงของวัคซีน ศ.นพ.ยง กล่าวว่า กว่าวัคซีนจะนำมาใช้ได้ ต้องผ่านการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งใช้อาสาสมัครเป็นหมื่นๆ และถึงแม้ว่าวันนี้ วัคซีนจะเข้ามาใช้ในบ้านเรา ไทยก็ไม่ใช่กลุ่มแรกที่ใช้วัคซีน เพราะปัจจุบัน มีการใช้วัคซีนมากกว่า 200 ล้านโดสทั่วโลก

“วัคซีนของซิโนแวคเอง ก็มีการใช้ไปแล้วหลายสิบล้านโดส และการศึกษาผลต่างๆ ขอให้สบายใจ อาการข้างเคียง บอกได้เลยว่า วัคซีนเชื้อตาย เพาะเลี้ยงคล้ายกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า โปลิโอ ตับอักเสบเอ ขั้นตอนไม่มีอะไรแปลก ดังนั้น อาการข้างเคียงเชื่อว่าน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน”

“ขณะที่วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ ของ แอสตร้าเซนเนก้า ที่จะเข้ามา ไทยก็ไม่ใช่กลุ่มแรกที่ถูกใช้ กว่าจะมาถึงไทยใช้ไปกว่าร้อยล้านคน แม้กระทั่งของไฟเซอร์-ไบออนเทค ที่มีรายงานการใช้ 13 ล้านโดสแรก ไม่มีใครเสียชีวิต แพ้อย่างรุนแรงประมาณ 5 ในล้าน แต่ถึงแพ้อย่างรุนแรงก็ไม่มีใครเสียชีวิต ในการฉีดวัคซีน 13 ล้านโดส มีคนเสียชีวิตแต่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน” ศ.นพ.ยง กล่าวทิ้งท้าย

161400735729
161400735729
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0