โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

มหากาพย์เสาไฟฟ้ากินรีประติมากรรมนวัตกรรมไทย (2)

สยามรัฐ

อัพเดต 09 ก.ค. 2564 เวลา 16.00 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2564 เวลา 16.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
มหากาพย์เสาไฟฟ้ากินรีประติมากรรมนวัตกรรมไทย (2)

บทความพิเศษ/ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

การตรวจสอบและสอบสวนที่ต่อเนื่องของ ป.ป.ช.และตำรวจ ป.ป.ป.

(1) ความตอนที่แล้วกล่าวถึงความหมาย “ประติมากรรมนวัตกรรมไทย” และประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์บางประการ ข่าวนี้ออกมาในช่วงที่ให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดได้ จึงเสมือนการดิสเครดิต อปท.ไปในตัว ทั้งที่เสาไฟเช่นนี้มีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2556 หรือก่อนหน้านั้น ที่จำเอาแบบอย่างมาจากเสาไฟถนนอักษะ

(2) แต่ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมายังมีข่าวประติมากรรมเสาไฟกินรี (Solar Cell : โซลาร์เซลล์) กันมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องความเหมาะสมในการจัดทำโครงการ งบประมาณที่แพง และการตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งโครงการในลักษณะเช่นนี้ นอกจาก อปท. แล้ว ยังมีในส่วนราชการต่างๆ ทั่วไป ด้วยงบประมาณจาก “กองทุนพลังงาน” เพราะเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีหัวข่าวพาดว่า "ปล้นกลางแดด เสาไฟประติมาโกง" ทั้งที่นายกรัฐมนตรีประกาศปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ

(3) เริ่มจากประเด็นการร้องเรียนนำเสนอข่าวของชมรม strong และสำนักข่าวอิศรา จับพิรุธตรวจสอบ รูปแบบการทุจริต (check & balance) โครงการจัดซื้อเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ปี 2562-2564 งบประมาณรวม 642.65 ล้านบาท ว่าคุ้มค่าหรือไม่ พนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.สตช.) เข้าสอบสวนเจ้าหน้าที่ รวม 6 ราย ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น เจ้าหน้าที่กำหนดขอบเขตการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง และเจ้าหน้าที่ตรวจรับ มีการวัดระยะห่างของเสาไฟของแต่ละต้น ว่ามีระยะห่างได้มาตรฐานหรือไม่

(4) ความวัวยังไม่หายความควายเข้ามาต่อ จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช.พบว่าในปีงบประมาณ 2556, 2557, 2561, 2562, 2563, 2564 อบต.ราชาเทวะได้จัดทำโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าและซ่อมบำรุงเสาไฟฟ้าดังกล่าว โดยมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 และพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้รับจ้างบางราย และยังพบว่าการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงรวม 5 คณะ ภายใน 180 วัน โดยแต่ละคณะจะแยกไต่สวนกันคนละปีงบประมาณ เบื้องต้น ในส่วนผู้ถูกกล่าวหากรณีนี้ อาทิ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, นายก อบต.ราชาเทวะ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชน รวมกว่า 20 ราย

(5) ข้อสังเกตการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ ของ อปท.โดยเฉพาะโครงการงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่ผ่านมา มักเป็นการทุจริต แบบทำงานร่วมเป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ทับซ้อนกันในหลายระดับ หลายคน ฯ เช่น โครงการลานกีฬา สนามเด็กเล่น สนามฟุตซอล กล้องวงจรปิด CCTV เสาโคมไฟฟ้าโซล่าเซลล์ เครื่องออกกำลังกาย สนามกีฬา การซื้อรถยนต์ดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ รถขยะ รถกระเช้าไฟฟ้าฯ การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนยางพารา (Para soil) ฯลฯ เป็นต้น ตามที่เป็นข่าว

(6) ข่าวการเรียกรับหักเงินงบประมาณโครงการมีมาตลอด แม้ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันแต่ทุกคนเชื่อว่ามีจริง โครงการเงินอุดหนุนใดที่เป็นงบเฉพาะกิจต้องจ่ายเงินซื้อแลกโครงการมา หรือมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการ ในโครงการงานก่อสร้างต่างๆ ผู้รับจ้างคู่สัญญาต้องจ่ายทุกโครงการ ว่ากันว่า งบประชารัฐ ชักเปอร์เซ็นต์หัวคิวถึง 30 - 50 % แล้วแต่วงเงินงบประมาณ มีข้อสังเกตว่า หากโครงการใดมีการสั่งการ หรือกำหนดแนวทางมาจากส่วนกลางแล้ว ส่วนใหญ่โครงการนั้นเป็นสัจจะว่ามักมีเงินทอน

(7) ล่าสุดอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ อบต.ราชาเทวะมีข่าวการให้ชะลอโครงการอนุมัติเงินสะสมติดตั้งเสาไฟกินรีลอตใหม่ 720 ต้น งบ 68 ล้านบาท มีข้ออ้างว่าทำถูกต้องตามแผนพัฒนาแล้ว แต่ฝ่ายตรงข้ามกลั่นแกล้ง

มิติสืบเนื่องจากงานศิลปะ ประติมากรรมนวัตกรรม

(1) กรณีไฟฟ้าโซล่าเซลล์นี้ สหรัฐอเมริกาได้ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว (2524 : 1981)

(2) สำหรับรูปหล่อประติมากรรม รูปกินรี ก็เหมือนการหล่อพระ หล่อชุดประดับโบสถ์ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ซุ้มประตู ประตูวัด หรือหล่อวัตถุอื่น เช่น หล่อล้อแม็กรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องเล่นไขลาน ฝาท่อระบายน้ำ ข้อต่อประปา ประตูเหล็กอัลลอย ฯลฯ ล้วนทำได้ทั้งสิ้น มีแบบ นำแบบมาสร้างแม่พิมพ์ จะหล่อแบบเท หรือแบบฉีดโลหะร้อนเหลว เข้าไป มีร้านทำอยู่ดาษดื่น ข้อสังเกตประเด็นนี้คือ เทคนิคความซับซ้อนที่จะเป็นศิลปะเป็นนวัตกรรมยังไม่มีความซับซ้อน ที่เหมาะสม

(3) เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์หรือประยุกต์ใช้ศิลปะขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่สิ่งของที่เขาได้ทำขายปกติกันมาเป็นสิบๆ ปีเช่นนี้ เพราะหากนานไป ลิขสิทธิ์ (Copy Right) สิทธิในเครื่องหมายการค้า (Trade Mark) รวมทั้งสิทธิบัตรต่างๆ ก็หมดอายุได้

(4) การกำหนดสเปกเอื้อกันมาจากส่วนกลาง อ้างเป็นนวัตกรรมไทย แต่มีราคาที่ซื้อจ้างแพงมากในเกือบทุก อปท.ทั่วประเทศ ก็เพราะว่าเป็นนวัตกรรม จึงเอาผิดใครไม่ได้ ความสูญเสียงบประมาณของชาติเป็นร้อยล้าน เรียก “ยุคทองของหน่วยงานราชการแห่งการโกง นวัตกรรมแห่งการกิน”

(5) กรมบัญชีกลางออกประกาศนวัตกรรมไทยเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ประกาศได้แต่ราคาต้องไม่สูงมาก ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อนุมัติงบอุดหนุนเฉพาะกิจโดยทำเป็นขบวนการ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ธุรกิจนายทุนผูกขาด ฯลฯ เป็นต้น

(6) กรณีงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเป็นดาบสองคมในการหาผู้รับผิดชอบ เพียงสั่งการให้ อปท.เสนอโครงการใดก็ได้ตามแบบรายละเอียดที่แนบ โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบควบคุม เสมือนล็อคสเปคโครงการจึงผ่านหมด ต้องพิจารณาลงโทษกระทรวง กรม สถ.ที่ไม่กลั่นกรองโครงการของบประมาณให้รอบคอบ

(7) ข้อสังเกตนโยบายรัฐโดยกรมบัญชีกลาง คือ พัสดุผลิตภายในประเทศที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เช่น (7.1) พัสดุจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามรายการสินค้าที่มีรายชื่อตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) (7.2) ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand : MiT) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (7.3) พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563

(8) และ พัสดุตามประติมากรรมนวัตกรรมคือ (8.1) บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย (Thai Invention) ที่ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (8.2) “นวัตกรรมไทย” โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) กำหนด ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 4 คณะ

มิติเทคนิค สเปกรูปแบบและราคาโครงการฯ

(1) มาตรฐานช่างคืออะไร สำหรับสิ่งก่อสร้างสาธารณูปโภคฯ ในด้าน “ความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิชาช่าง” ดูไม่มีความมั่นคงแข็งแรงอันตรายมาก เช่น มีนอต(ทิพย์) ยึดเสาไฟเพียงนิดเดียว

(2) จากบัญชีนวัตกรรมไทย เสาไฟแผงโซล่าเซลล์แผงเดียว เป็นแสนเหมือนกัน มาดูสเปคราคาต้นละ 70,000 บาท เสากิ่งเดี่ยว 8 เมตร ไฟ LED 60w แผงโซล่า 200w แบต 12v/180ah รุ่นนี้เป็นแบบ All in One ในท้องตลาดราคาช่วงหมื่นต้นๆ ไม่ถึง 70,000 บาท คิดค่าดำเนินการและค่ากำไรแล้ว เฉลี่ยถึงต้นละ 50,000 บาท เรียกว่าปล้น กำไรถึงต้นละ 5-6 หมื่น 100 ต้นก็ 5-6 ล้าน แม้จะลดราคาต่อหน่วยลง ก็ถือว่า ยังไม่ขาดทุน เช่น สนนราคากรณีเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี เบิกเงินแล้ว 200 ต้น เฉลี่ยต้นละ 69,000 บาท (13.8 ล้าน)

(3) มีเสียงวิพากษ์ประสบการณ์จากช่างงานติดตั้งคนหนึ่งที่รับงานให้กับภาคเอกชนมาไม่ต่ำกว่า 800 ชุด ที่เป็นทั้งผู้นำเข้าเองและซ่อมบำรุงเอง เห็นมาแล้วหลากหลายรูปแบบว่า เทียบกันไม่ได้กับ All in one ที่ขายกันตามท้องตลาด ทั้งวัสดุ และ ระบบภายใน งานออกแบบ ขนาดของแบตเตอรี่ ชนิดของแบตเตอรี่ ขนาดแผงเซลล์ ขนาดกำลังวัตต์ ชนิดของหลอด LED การรับประกัน และ ตัวชาร์จคอนโทรล แต่ลองมองอีกมุมที่ราชการมีสเปกไว้แล้ว (ที่มองว่าเป็นการล็อกสเปก ผูกขาด เอื้อนายทุนผู้ผลิตฯ) ให้มุมมองอีกด้านหนึ่ง จากงานนี้ดูโดยรวมขายราคา 60,000 บาท ไม่น่าแพง หากบวกงานรับประกัน งานเผื่อแบตเตอรี่พังต้องซ่อมหรือนำเข้ามาใหม่ และ งานเซอร์วิสบริการหลังการขายเข้าไปด้วย และหากมีโมชั่นเซนเซอร์ (Motion sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหว) ราคาก็จะแพงกว่านี้ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ สตง. ไม่ดำเนินการตรวจสอบต่อในเรื่องราคา

(4) หลักการตามปกติทั่วไปไฟฟ้าโซล่าเซลล์จะใช้ในเขตที่ทุรกันดารที่การไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง นอกจากนี้ราคามาตรฐานกลางก็ไม่มีง่าย ฉะนั้น การตั้งงบประมาณขอขยายเขตไฟฟ้าสาธารณะอุดหนุนการไฟฟ้า ตั้งเสา ลากสาย ติดตั้งโคมไฟถนนหลอด LED ซ่อมบำรุงง่าย ถูกกว่า สว่างจ้า ทีเดียวจบ แต่แปลกว่า เขตเมืองมักชอบทำโครงการโซล่าเซลล์กันเหลือเกิน และโคมไฟแบบนี้พังง่ายด้วย มีข้อสังเกตว่าเสาไฟมักเสียบ่อย ถึงประมาณครึ่งหนึ่ง

(5) อบต.บางแห่งเคยไปขอติดตั้งไฟโซล่าเซลล์ (กรณีหมู่บ้านจะใช้งบของพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า) บนถนนของ อบจ.ผลเสาไฟต้องสูงตามมาตรฐานของกรมทางหลวง (แบบเสาที่ อบต.ส่งไป ใช้ไม่ได้) อบจ.แจ้งให้กองช่างออกแบบใหม่ อบจ.ส่งแบบมาให้ อบต.ส่งต่อไปให้หมู่บ้านที่ต้องการ เรื่องก็หายเงียบไป (หมู่บ้านเลิกคิด)โครงการจึงพับไปโดยปริยาย

บทพิสูจน์ “ในที่สุดนักการเมืองรอด ข้าราชการก็รับผิดไป”

(1) เป็นคำกล่าวที่ตอกย้ำว่า การสอบสวนเอาผิดทางอาญานักการเมืองมักไม่ได้ผล สุดท้ายแพะผู้รับโทษก็คือบรรดาเหล่าข้าราชการฝ่ายประจำของ อปท. รับไป ฉะนั้น แนวทางต่อสู้ของข้าราชการต้องให้การว่า ผู้บังคับบัญชา(ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น) ได้มอบหมายหน้าที่จึงทำได้ หากไม่มอบหน้าที่ให้ทำแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำไม่ได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงไม่มีความผิดต่อหน้าที่ราชการในฐานะตัวการ หรือผู้สนับสนุน หรืออื่นใด

(2) จากแนวทางคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในความผิดต่อหน้าที่ราชการที่กระทำนั้น ก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่จากผู้บังคับบัญชา หากไม่ได้มอบหน้าที่ก็ไม่เป็นความผิด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิทำเองได้ ข้อสังเกตกรณีนี้ คือ ได้มีใบสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำ หรือทำเองแล้วโบ้ยผู้อื่น เป็นความผิดปกติที่ต้องตรวจสอบ

(3) เจ้าหน้าที่ต้องหัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน พยานอิเล็กทรอนิกส์ไว้ เช่น คลิปภาพ คลิปเสียง กล้อง CCTV ในขั้นตอนดำเนินการ เพราะพยานบุคคลมักใช้อ้างอิงไม่ได้ เพื่อกันตัวเองมิให้ร่วมรับผิดอาญาในฐานะตัวการหรือผู้สนับสนุน ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขียนทำโครงการ สั่งให้เขียนราคาล็อกสเปค ตามที่กำหนด มิใช่ราคาจริงท้องตลาด ควรให้ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการไว้เป็นหลักฐานหนังสือ เป็นต้น

(4) ในด้านการกำกับดูแลโดยนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำถามว่า นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล อบต.ทำไมไม่กำกับดูแลให้ อบต.แห่งนี้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอหายไปไหน ทำไมไม่ทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ จนปล่อยปละละเลยทำให้ราชการเสียหาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ลบของกรม สถ.

(5) ลำพังการตบมือข้างเดียวไม่ดังฉันใด การคิดการทำโครงการใหญ่ย่อมไม่เป็นผล หากไม่มีผู้สนับสนุนร่วมมือให้ท้าย ในที่นี้มองไปที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่า เช่น ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคต้องมีส่วนรู้เห็นฯ ไม่ได้ทำคนเดียวแน่ๆ แต่ร่วมทำกันเป็นขบวนการทั้งโขยง สื่อไม่กล่าวโทษตำหนิ อบต.ฝ่ายเดียว สอบสวนตั้งแต่ต้นน้ำยันท้ายน้ำ ต้องสาวขุดคุ้ยถึงต้นตอที่แท้จริง บริษัทเดียวรับงานเจ้าเดียวได้อย่างไร เอาเสาไฟฟ้าลงในป่าเพื่ออะไร ชาวบ้านทุกคนในตำบลกินอิ่ม นอนหลับ สบายดีอยู่หรือ ลองคิดเล่นๆ งบ 200 ล้านบาท เฉลี่ยเสาไฟต้นละ 94,000 บาท แต่ราคาจริงไม่เกิน 40,000-50,000 บาท (40%=80 ล้าน) เป็นการกระจายอำนาจของการคอร์รัปชั่น พัฒนาดี แต่ต้องโปร่งใส “การแก้ปัญหาทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ" คำนี้จงจำ

(6) ป.ป.ช.ไม่เก่งแต่ท้องถิ่น ต้องตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานอื่น ผู้กำกับดูแลฯ ด้วยทั้งหมด ไม่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ ว่าปล่อยปละละเลยฯ มีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ อย่างไร ลำพังนายกฯ คนเดียวคงไม่สามารถทำและบริหารแบบกังขาได้ง่ายเพียงนี้

เหตุใดต้องทำโครงการเสาไฟกินรี ทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอื่นบ้างจะดีกว่า

(1) ควรนำงบไปพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตให้มากขึ้น ช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ประชาชนให้สุดทางก่อน ทำให้คนจนในตำบลหมดไปก่อน มิใช่ไปทำเสาไฟกินรีส่องทาง อาทิ อุดหนุนพัฒนาโรงเรียนวัดวาอาราม สร้างห้องสมุดประชาชน สร้างโรงเรียนหรือศูนย์ฝึกอาชีพ สร้างงานให้ชาวบ้านให้คนจน คนด้อยโอกาส ได้มีงานทำอย่างยั่งยืนให้ทุนการศึกษานักเรียนยากจนในพื้นที่ จะไม่มีแผนงานพัฒนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน ความเป็นอยู่ของชาวบ้านบ้างเลยหรือ

(2) ช่วงภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิดแก่ประชาชน สนับสนุน เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาล จัดชื้อข้าวสารอาหารแห้งแจก คนตกงานโรงงานปิด คนจนคนไม่มีจะกินยุคโควิดระบาด ฯลฯ เป็นต้น

(3) นำงบไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ สาธารณูปโภคอื่น เช่น สร้างสนามกีฬาให้เยาวชน ได้มีที่พบปะ พูดคุย ออกกำลังกาย ฯลฯ สร้างตลาด เทคอนกรีตถนนลูกรัง ติดกล้อง CCTV การให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนและชุมชน สร้างสะพานลอยในจุดอันตรายลดอุบัติเหตุอำนวยความสะดวกประชาชนฯ เป็นต้น

(4) หากคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก สามารถแบ่งเงินงบประมาณนี้ไปลอกคลองในพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมก็ได้ หรือไปทำเกี่ยวกับระบบจัดการน้ำเสีย ท่อระบายน้ำทิ้ง หรือการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรม ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ พัฒนาภูมิทัศน์ถนนที่ชาวบ้านใช้เดินทาง พัฒนาถนนซอยที่ยังไม่ดี ด้านการประปาน้ำสะอาด โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน สร้างเตาเผาขยะ การบริหารจัดการขยะ ซื้อรถขนขยะ ถังขยะ ฯลฯ เป็นต้น

ผู้เขียนไม่มีเจตนาให้ร้ายใส่ความผู้ใด เพียงนำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์ให้แก่สังคม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0