โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ข้อสังเกตจาก 'แผ่นดินไหว' ประเทศนิวซีแลนด์

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 06 มี.ค. 2564 เวลา 05.44 น. • เผยแพร่ 06 มี.ค. 2564 เวลา 05.45 น.

วันนี้ (6 มีนาคม 2564) ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ทางตอนเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 7.3-8.1หลายครั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ คืนวันที่ 4 ถึง เช้าตรู่ของวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยแผ่นดินไหวขนาด 8.1 และทำให้เกิดคลื่นสึนามิด้วย

โชคดีที่คลื่นสึนามิมีขนาดไม่สูงมากจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนค่อนข้างน้อย ต่างจากแผ่นดินไหวสุมาตราที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดไปสร้างความเสียหายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และเนื่องจากแผ่นดินไหวกลุ่มนี้เกิดอยู่กลางมหาสมุทรห่างจากแผ่นดินพอสมควร จึงไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินหรือหมู่เกาะรอบ ๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว บริเวณแนวมุดตัวนี้มีแผ่นดินไหวขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาโดยตลอดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่เกิดแผ่นดินไหวกลุ่มนี้ขึ้น

"แผ่นดินไหวกลุ่มนี้เกิดอยู่ตรงแนวชนกันและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่มีชื่อว่าแนวมุดตัวทองกา-เคอร์มาเด็ค แนวมุดตัวนี้มีความยาวมากกว่า 2,500 กิโลเมตร วางตัวมาจากด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์พาดยาวขึ้นมาทางทิศเหนือจนเกือบถึงประทศซามัว แนวมุดตัวนี้เป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งนึ่งของโลก"

กลไกการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั้ง 3 ตัวที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีความสลับซับซ้อนพอสมควร กล่าวคือ แผ่นดินไหวตัวใหญ่ตัวแรก มีขนาด 7.3 เกิดขึ้นใกล้กับเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ อีก 4 ชั่วโมงถัดมาก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 เกิดขึ้นทางเหนือห่างออกไปจากแผ่นดินไหวตัวแรกประมาณ 1,000 กิโลเมตร เนื่องจากแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งเกิดห่างกันมาก คาดว่าแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เกิดขึ้นครั้งแรกไม่น่าจะกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองได้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สอง ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 3 ที่มีขนาด 8.1 ห่างจากแผ่นดินไหวตัวที่สอง ห่างออกไปแค่ประมาณ 70 กิโลเมตร

ด้วยระยะทางที่ใกล้มาก ทำให้เชื่อได้ว่าแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ที่เกิดขึ้นครั้งหลังสุด เป็นผลมาจากการการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน โดยแผ่นดินไหวครั้งที่สอง ขนาด 7.4 ที่เกิดขึ้นก่อนอาจจะทำให้พื้นที่รอบ ๆ มีความเค้นมากขึ้นและทำให้เกิดการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในเวลาต่อมาเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ตามมา (หมายเหตุ ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แต่ละครั้งจะมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นตามมาจำนวนมากซึ่งเป็นเรื่องปกติ)

161500934760
161500934760

ภาสกร กล่าวต่อไปว่า ปีนี้ดูเหมือนจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดปานกลางและใหญ่หลายเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นปีสร้างความเสียหายจากแผ่นดินไหวค่อนข้างมาก เช่น แผ่นดินไหวขนาดปานกลาง ขนาด 5.7-6.2 ที่เกิดขึ้นที่ประเทศ สเปน มองโกเลียและ อินโดนีเซีย ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังพบว่าจำนวนแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน ดังนั้นในปีนี้จึงไม่น่าจะมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากกว่าปีอื่น ๆ

ที่ผ่านมา สังคมมักให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก แต่ความจริงนั้นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง เช่น ขนาด 5-6 กว่า ๆ ก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน ถ้าแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นใกล้เมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นใกล้เมืองที่ตั้งอยู่บนหรือใกล้รอยเลื่อนมีพลังจะทำให้พื้นดินสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายสูงมาก และถ้าเมืองนั้นมีสภาพเป็นแอ่งมีตะกอนหนาหรือเป็นดินอ่อนก็จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นดินสั่นแรงขึ้น สร้างความเสียหายมากขึ้น

  • รับมือแผ่นดินไหว 

การรับมือแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ได้ดังนี้ ประการแรก ต้องทราบแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและปัจจัยที่ส่งผลกระทบจากแผ่นดินไหว เช่น รอยเลื่อนมีพลังอยู่ตรงไหน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ขนาดเท่าไหร่ เกิดบ่อยแค่ไหน เมืองมีลักษณะธรณีวิทยาอย่างไร ทำให้พื้นดินสั่นสะเทือนมากขึ้นแค่ไหน เป็นต้น

ประการต่อมา คือ การสร้างองค์ความรู้เพื่อลดผลกระทบกระทบจากแผ่นดินไหว เช่น การทำแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหว การประเมินผลกระทบและความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองใหญ่ การออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น เป็นต้น

และประการสุดท้าย ต้องสร้างสังคมที่ตระหนักรู้ถึงภัยแผ่นดินไหว เพราะทำนายไม่ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และเกิดที่ไหน ประชาชนจึงต้องสามารถที่จะป้องกันตนเองเมื่อเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างบุคลากรด้านแผ่นดินไหว และมีโครงสร้างทางกฎหมายและสังคมที่ส่งเสริมต่อการรับมือแผ่นดินไหว เช่น กฎหมายควบคุมอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น กฎหมายประกันภัยและชดเชยความเสียหายจากแผ่นดินไหว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้การรับมือของแผ่นดินไหวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

161500938152
161500938152

ภาพแสดงการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3-8.1 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ตั้งแต่คืนวันที่ 4 ถึง เช้าตรู่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 (เครดิตภาพ USGS)

สำหรับ ประเทศไทย งานวิจัยด้านแผ่นดินไหวส่วนมากก็จะถูกสนับสนุนโดยหน่วยงานให้ทุนวิจัยโดยตรง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (เดิม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) หรือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จัดสรรทุนวิจัยของประเทศไทยตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็คงต้องยอมรับว่าทุนวิจัยด้านแผ่นดินไหวมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับทุนวิจัยทั้งหมด หรือเมื่อเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีงบประมาณการทำวิจัยทั้งประเทศไม่มากนัก และประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

งบประมาณวิจัยจึงถูกกระจายไปให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาของประเทศให้ทั่วถึง ประกอบกับแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดบ่อยมากนักในประเทศไทยและยังไม่ค่อยได้เกิดในเขตเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ ความเสียหายที่ปรากฏจึงดูไม่มาก ทำให้งานวิจัยด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทยถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือแม้แต่คุณภาพอากาศซึ่งเกิดทุกปี

  • แผ่นดินไหว ปานกลาง สร้างความเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า แผ่นดินไหวขนาดปานกลางสามารถทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างมหาศาล เช่น ประเทศ เฮติ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ประเทศนิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศไทยเอง ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งสร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาท มีอาคารบ้านเรือนเสียหายหลายพันหลัง ภัยแผ่นดินไหวจึงเป็นภัยธรรมชาติที่เราจำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมืออยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่แล้ว ประเทศไทยจะเกิดความสูญเสียสูงมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0