โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เช็ค!! 'รพ.'สู่สภาวะเตียงตึง รองรับ'ผู้ป่วยโควิด-19' พอหรือไม่?

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 03 พ.ค. 2564 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 03 พ.ค. 2564 เวลา 07.43 น.

จากอัตราผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จากโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุด วันที่ 3 พ.ค. 64 ภาพรวมของสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2,041 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 71,025 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 29,765 ราย หายป่วยแล้ว 40,984 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 276 ราย  สำหรับการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 นั้นมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 182 ราย

  • "รพ."สู่ "สภาวะเตียงตึง" ผู้ป่วยหนักครองเตียง 70-80%

ตอนนี้ สถานการณ์เตียงสำหรับ "ผู้ป่วยอาการหนัก"หรือไอซียู เกิดสภาวะที่เรียกว่"สภาวะเตียงตึง" นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยสถานการณ์เตียงไอซียูห้องความดันลบ (AIIR-ICU) ซึ่งมีเครื่องมือดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจและระบบความดันลบ (Modified AIIR) ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยหนัก เมื่อ 28 เม.ย. ว่ามีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 70-80 % ทั่วประเทศ แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้า จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการนำผู้ป่วยในห้องไอซียูที่มีอาการดีออกมาอยู่หอผู้ป่วยมากขึ้นเพื่อรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ เข้าไป

"ถ้าพูดจริง ๆ มันถึงจุดที่ตึง ไม่ค่อยมีพื้นที่ที่จะเหลือสำหรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าไปได้ เว้นแต่มีการบริหารจัดการที่ดี เราคงไม่สามารถเอาผู้ป่วยเข้าไปได้ 100%" นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ว่า สถานการณ์เตียงเริ่มมีภาวะตึง ในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อสูง  บางทีภาพรวมมันเหมือนไม่ใช่เป็นปัญหา แต่การกระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัด ถ้าเราดูตัวเลข 6 จังหวัด รวมกันมีผู้ป่วยอยู่ 60% ของตัวเลขทั้งหมด ถ้าคำว่ายอดรวม 77 จังหวัดอาจจะดูพอ แต่พื้นที่ที่เยอะ ๆ อาจจะเริ่มตึง ส่วนกรณีเครื่องช่วยหายใจ ที่ต้องมีการเสริมในห้องความดันลบที่ดัดแปลงมา ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อม

  • กทม.เร่งเพิ่มเตียง "รพ.สนาม" และ "Hospitel"

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่วันที่ 1 เม.ย.- 2 พ.ค. 64 กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสม 13,283 ราย และมีแผนการดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. จุดที่มีเชื่อมโยงผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายตรวจเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 7,200 คน ระหว่าง 3-7 พ.ค.นี้

ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิดอยู่ในระบบการรักษาของ กทม. รวมจำนวน 1,291 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมีอาการรักษาอยู่ใน รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 8 แห่ง รวม 214 เตียง ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อยพักอยู่โรงพยาบาลสนาม กทม. ทั้ง 4 แห่ง รวมครองเตียง 966 เตียง คงเหลือ 734 เตียง ผู้ป่วยพักดูอาการใน Hospitel 5 แห่ง รวมครองเตียง 173 เตียง คงเหลือ 411 เตียง

โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบโดย"รพ."สังกัด กทม. และการตรวจในพื้นที่โดยสำนักอนามัย กทม.และ สปคม. ทั้งหมดได้รับประสานให้เข้ารับการรักษาโดยไม่มีตกค้าง นอกจากนี้ ศูนย์เอราวัณ กทม.ยังพร้อมสนับสนุนส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาใน"รพ."นอกสังกัดด้วย และรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการมาเข้ารับการรักษาใน"รพ.สนาม"ให้เร็วที่สุด โดยผู้ที่ยังไม่มีเตียงสามารถโทร.ประสานศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เนื่องจากยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีเตียงเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างเพียงพอ กรุงเทพมหานครจึงได้ขยาย "รพ.สนาม"เพิ่มเติม เพื่อเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หรือพักดูอาการรักษาหลังการรักษาใน"รพ."หลักแล้วอาการดีขึ้น

  • เร่ง"รพ.สนาม"และ"Hospitel" รองรับ "ผู้ป่วยโควิด-19"

ขณะนี้กำลังเตรียมการเปิด "รพ.สนาม"แห่งที่ 5 ณ ศูนย์กีฬาบางบอน เขตทุ่งครุ ซึ่งจะสามารถรองรับได้อีก 400 เตียง จากเดิมมี 1,700 เตียง พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในการเปิดเป็น "Hospitel" เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง รองรับได้ 584 เตียง โดยผู้ประกอบการโรงแรมที่มีความพร้อม สามารถประสานกับสำนักการแพทย์ กทม. หรือสำนักงานเขตพื้นที่

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาการหนักที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนในการระบาดระลอกนี้ ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤตและอุปกรณ์การรักษาโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจเริ่มขาดแคลน ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์โรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มจัดหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลสนาม

  • พบยอดผู้ป่วยอาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจพุ่งขึ้น

นอกจากปัญหาการหาเตียงให้ผู้ป่วยประสบภาวะคอขวด คนไข้ตกค้างที่บ้าน จนเกิดกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกประเด็นที่น่ากังวลคือจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยไอซียูห้องความดันลบก็เริ่มจะเต็มกำลังของระบบสาธารณสุข หลังการระบาดระลอกเดือน เม.ย. ผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน

ตัวเลขผู้ป่วยหนักจากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สูงขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้นสู่ระดับ 2,000 คน ต่อวัน ในส่วนยอดผู้ป่วยอาการหนัก และใส่เครื่องช่วยหายใจ 5 วัน ย้อนหลัง พบว่า วันที่ 29 เม.ย.2564 ผู้ป่วยอาการหนัก 786 คน  ใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 คน

วันที่ 30 เม.ย.2564 ผู้ป่วยอาการหนัก 871 คน  ใส่เครื่องช่วยหายใจ 250 คน วันที่ 1 พ.ค.2564 ผู้ป่วยอาการหนัก 829 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 คน วันที่ 2 พ.ค.2564 ผู้ป่วยอาการหนัก 829 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย  และ วันที่ 3 พ.ค.2564 ผู้ป่วยอาการหนัก 954 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 270 ราย

  • แนะภาครัฐเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉิน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่าสถานการณ์ผู้ป่วยหนักที่เริ่มต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น และขณะนี้เครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีระบบออกซิเจนเชื่อมต่อกับเครื่องขณะนี้เริ่มไม่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐต้องจัดหาเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินชนิดพกพาที่ไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบออกซิเจน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องเหล่านี้ไปจนถึงผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่อยู่ใน "รพ." และ "รพ.สนาม"

ทั้งนี้ อาการของคนไข้และเครื่องช่วยหายใจที่ต้องใช้ในแต่ละระดับ โดยระดับอาการเป็นไปตามการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโรค แบ่งได้ 6 ระดับ ระดับที่ 1 อาการเล็กน้อย แทบไม่ต้องทำอะไรเลย ระดับที่ 2 อาการเริ่มเห็นชัดเจน แต่อาจจะไม่มีอาการทางปอด แต่มีไข้ ตัวร้อน อ่อนเพลีย ระดับที่ 3 เริ่มมีอาการมากขึ้น ต้องเริ่มใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่เป็นลักษณะเครื่องที่เสียบไว้ที่รูจมูกหรืออาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา

ระดับที่ 4 อาการอยู่ในขั้นที่อาจต้องใช้เครื่องปั๊มอากาศทางหน้ากาก ระดับนี้ถ้าคนไข้คงสภาพอยู่ได้หรือดีขึ้นก็หยุด หรือถ้าผ่านระดับที่ให้ออกซิเจนธรรมดา หรือให้เป็นชนิดหน้ากากอัดอากาศ แล้วยังช่วยไม่ได้ ก็จะต้องสอดท่อเข้าไปเพื่อให้เครื่องสามารถปั๊มอากาศเข้าไปได้ เพราะปอดเต็มไปด้วยน้ำ เต็มไปด้วยเสมหะเหนียว ๆ อยู่ก็จะไม่มีออกซิเจนเข้าไปในร่างกายได้ ระดับที่ 5 ต้องใส่ท่อหายใจและรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) และระดับที่ 6 อาการวิกฤต นอกจากใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว ยังต้องใส่เครื่องประทังชีวิตทุกชนิด รวมทั้งเครื่องที่ต้องอัดออกซิเจนเข้าไปในเลือด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กทม.อัพเดทเตียง 'รพ.สนาม' รับผู้ป่วย 'โควิด' คงเหลือ 977 เตียง

                     3 สายด่วน ประสานหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เร็วขึ้น

                    จ่อตั้ง รพ.สนาม รับผู้ป่วย 'โควิด-19' จากชุมชนคลองเตย

  • อว.ปรับ "รพ.สนาม"ให้พร้อมผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ อว.ได้สนับสนุน "รพ.สนาม"ทั่วประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ระลอก 3 ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น อว.จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ โดยจะขยายกำลังมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มเหลือง ส้ม แดง ได้ มากขึ้น จากเดิมที่ดูแลกลุ่มเขียวเป็นหลักด้วย "รพ.สนาม"

 ทั้งนี้ได้ให้กลุ่ม"รพ."หลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet มาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. อย่างใกล้ชิดในการรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ส้ม และเหลืองแก่  ส่วน "รพ.สนาม"ที่ อว.เปิดดำเนินการอยู่แล้ว จะปรับเพิ่มเติมให้พร้อมรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองอ่อน เหลืองเข้ม ส้ม ตามความเหมาะสม

รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว.จะเตรียมความพร้อมทางอาคาร สถานที่และนวัตกรรม ในกรณีที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น รพ.สนามสำหรับสีเหลืองส้ม ICU สนาม เพื่อเป็นกำลังหนุน โดยขอให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าช่วย โดยประสานร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย รวมทั้งสนับสนุนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรองและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน โดยคณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นหลัก

ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญ อว.จะสนับสนุนข้อมูลและระบบบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ที่ดำเนินการอยู่แล้ว สำรวจพื้นที่และจุดเสี่ยง โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำมาแล้วที่ จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ อว.ได้ปรับงบประมาณที่มีอยู่มาสนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรแนวหน้า

โดยเฉพาะอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95, ชุดหมี PPE, หน้ากากความดันบวกสำหรับบุคลากรการแพทย์ PAPR, High Flow Oxygen system, เครื่องวัด Pulse oximeter, ระบบเอกซเรย์ภาคสนามเคลื่อนที่ เป็นต้น โดยให้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนนวัตกรรมที่ใช้งานได้และมีสายการผลิตแล้ว มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำงานร่วมกับเอกชน

ทั้งนี้หน่วยงานที่มีนวัตกรรม และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ศบค. ซึ่งมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0