โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อย่าแอบหลังม็อบ

ไทยโพสต์

อัพเดต 28 ก.พ. 2564 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2564 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    ขอขยายความหน่อย….     สืบเนื่องมาจากการแชร์ โควตคําพูดของ "สมชาย  ปรีชาศิลปกุล" ที่ว่า     ….กล้าทำก็กล้าแสดงตัวด้วย     ใครคือผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่ให้ประกันตัวแกนนำราษฎร ช่วยแสดงตัวให้ชัดเจนหน่อยครับ ปกติถ้าเป็นคำพิพากษาเห็นต้องมีตรายางประทับชื่อแบบอ่านออกไว้ข้างล่างลายเซ็น หรือไม่ก็เป็นตัวพิมพ์อันชัดเจน     ทำไมในคำสั่งกรณีแบบนี้จึงไม่มี ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรมิใช่หรือหากเชื่อมั่นว่าเป็นการวินิจฉัยด้วยหลักวิชาอย่างแท้จริง….     มีการเอาไปขยายความอย่างแพร่หลายในโซเชียลกลุ่มสามนิ้ว       นั่นเป็นเหตุให้ "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng  แจกแจงเป็นข้อๆ ตามไปดูครับ…     ….นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เขียนดูแคลนผู้พิพากษาที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแกนนำม็อบราษฎรว่า ไม่กล้าแสดงตัว ฯ     ….ในฐานะที่เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษามา ๓๔ ปีเศษและเคยเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นเวลา ๑๗ ปี ขอชี้แจงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังนี้     ……๑.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ว่ากรณีใดต้องทำเป็นคำพิพากษาหรือทำเป็นคำสั่ง     ……๒.เรื่องปล่อยชั่วคราวที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๖ ถึงมาตรา ๑๑๙ ทวิ กำหนดให้ทำเป็นคำสั่ง ศาลจึงต้องยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว     ……๓.การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของแกนนำม็อบราษฎรที่อุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยทำเป็นคำสั่ง ไม่ได้ทำเป็นคำพิพากษา จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว     ……๔.คำที่ประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า "ตัดสิน" หรือ ภาษากฎหมาย เรียกว่า "พิพากษา" นั้น ตามกฎหมายให้ใช้ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาที่เป็นข้อพิพาทแห่งคดี แต่คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ไม่ใช่การวินิจฉัยเนื้อหาที่เป็นข้อพิพาทแห่งคดี ผู้ที่รู้กฎหมายไม่เรียกว่า "ตัดสิน" แต่เรียกว่า "คำสั่ง"     ……๕.คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องตามข้อ ๓ เป็นรูปแบบคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีใช้กันมานานนับสิบปีแล้ว โดยองค์คณะผู้พิพากษา ๓ ท่านลงลายมือชื่อและประทับตราศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี โดยไม่พิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษา เพราะไม่ใช่คำพิพากษาที่องค์คณะต้องลงลายมือชื่อและที่ต้องพิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาด้วย  และไม่ใช่เพิ่งมีเฉพาะคำสั่งคำร้องคดีแกนนำม็อบ ทั้งไม่ใช่เพราะองค์คณะผู้พิพากษาไม่กล้าแสดงตัวหรือหวั่นเกรงอะไรอย่างที่นายสมชายกล่าวหาอย่างดูแคลน     ……องค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าวกล้าแสดงตัวเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างแน่นอนโดยไม่หวั่นเกรงอะไร เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนที่ยุยงส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกระทำผิดกฎหมาย แต่ตัวเองแอบอยู่ข้างหลังม็อบ     ……๖.ถ้าผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีไม่กล้าแสดงตัวหรือหวั่นเกรงอะไรก็คงไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๒๐ ปี จำคุกจำเลยตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตจำเลย เพราะองค์คณะผู้พิพากษาลงลายมือชื่อและได้พิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาด้วยทุกคดี….     กลับไปดูโควตคำพูดของนายสมชาย อีกทีครับ      ท่อนแรกใช้คำว่า "คำพิพากษา"     ท่อนหลังบอกว่า "คำสั่ง"      ฉะนั้นนายสมชายรู้อยู่แล้วว่า "คำพิพากษา" กับ "คำสั่ง" นั้นแตกต่างกันอย่างไร      แต่ที่สงสัยคือ เมื่อรู้อยู่แล้ว ทำไมถึงยังมีเจตนานำมาบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ?       นายสมชายเป็นใคร?     รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่     เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๗ ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๕     ได้รับรางวัลวิจัยระดับดี จากสภาวิจัยแห่งชาติ  ประจำปี ๒๕๖๐     ชื่องานวิจัย เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยการ สนับสนุนของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ     มีงานเขียนที่โด่งดังในหมู่คนคอเดียวกันชื่อ "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"      "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" ให้เหตุผลในการใช้ชื่อนี้ว่า  เพราะในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดในสังคมไทยก็คือ เห็นบทบาทของตุลาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย      "…ในที่นี้มีความหมายอย่างเฉพาะเลยคือเข้ามาเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ การออกนโยบาย การออกกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตัดสินการเลือกตั้ง  การเอาคนออกจากตำแหน่ง ฯลฯ ในช่วง ๑๐ ปีกว่าๆ  องค์กรตุลาการเข้ามาทำหน้าที่นี้ชัดเจนมากขึ้น      มันเลยทำให้แต่เดิมที่ปัญหาหลายเรื่องตุลาการจะไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ในตอนนี้ ตุลาการจะเข้ามาตัดสินชี้ขาด ในขณะที่สถาบันอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขอบเขตอำนาจมันน้อยลง ถูกตัดแข้งตัดขามากขึ้น     เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังเป็นแบบนี้ คือมีการเลือกตั้ง มี ส.ส. มีพรรคการเมือง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เวลาเกิดปัญหาให้ต้องชี้ขาด ตุลาการกลับเข้ามาทำหน้าที่…"     "….ก่อนปี ๒๕๔๙ ตุลาการยังไม่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง      แม้ก่อนหน้านี้เรามีศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีคำตัดสินที่โน้มเอียงไปทางสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลถูกฟ้อง นายกรัฐมนตรีถูกฟ้อง ศาลก็ยังให้การสนับสนุน     แต่หลังปี ๒๕๔๙ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ที่อำนาจตุลาการเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด…."     ฉะนั้นไม่ได้แปลกใจอะไร     เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไม่มีความรู้     แต่เป็นทัศนคติในการมองปัญหา     เมื่อมีอคติ      ความรู้ที่มีจึงถูกบดบังด้วยอคติ      นี่คือปัญหาใหญ่ที่นักวิชาการยุคนี้หลายๆ คนประสบอยู่     นับแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นต้นมา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ถูกเปลี่ยนมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ และขยายอำนาจ ไปสู่การถอดถอนฝ่ายการเมือง       มิใช่จู่ๆ ศาลลุกขึ้นมามีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารเสียเอง      ก่อนปี ๒๕๔๙ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้สนับสนุนฝ่ายบริหารตามที่นายสมชายพยายามบิดเบือน     คดีซุกหุ้นทักษิณ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติ ๘ ต่อ  ๗ ว่า ทักษิณมิได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ และ "ทักษิณ" ใช้คำว่าบกพร่องโดยสุจริต      แต่ "ประเสริฐ นาสกุล" ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยคดีนี้ เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนอบรม "ทักษิณ" ถึงความเห็นแก่ตัว     และในยุคของระบอบทักษิณ ข่าวคราวการวิ่งเต้นตุลาการและการแทรกแซงองค์กรอิสระได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง จนกระบวนการยุติธรรมและการตรวจสอบบิดเบี้ยว     นี่คือความจริงในอดีตและนายสมชาย ก็น่าจะรับรู้มาโดยตลอด      ก็อย่างที่ท่านชูชาติบอก ความจริงวันนี้มีพวกแอบหลังม็อบ     นายสมชายเองก็รู้ตัวดีว่า ตนเองเข้าข่ายหรือไม่.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0