นอกจากวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาจากใบยาสูบแล้ว วัคซีน ChulaCov19 (จุฬาคอฟ 19) เป็นอีกชนิดวัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทยจากโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้รับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาวัคซีนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย
ChulaCov19 ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิดชนิดmRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ)เช่นเดียวกับวัคซีนไฟซอร์ (Pfizer-BioNtech) และโมเดอร์นา (Moderna) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลกในแง่ของประสิทธิภาพ และเหตุหนึ่งที่โครงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 เป็นที่จับตามอง เพราะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่พัฒนาวัคซีนขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA
นั่นจึงทำให้ ChulaCov19 เป็นอีกหนึ่งวัคซีนแห่งความหวังของคนไทยที่จะเข้ามาช่วยในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งวัคซีนได้กลายเป็นอาวุธสำคัญของผู้คนทั่วโลกในการต่อสู้กับไวรัส แต่ก่อนที่โครงการนี้จะเดินทางไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ Sarakadee Lite ชวนมารู้จักรายละเอียดของ ChulaCov19 อีกความหวังแห่งทีมนักวิจัยไทยแลนด์
1. วัคซีนChulaCov19 เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่เรียกว่า mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ)เป็นการใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสในการผลิตวัคซีนแบบเดิม ซึ่งแม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทว่าได้รับการรับรองในแง่ของประสิทธิภาพเช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิต และปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
2.ข้อดีของการพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA คือ ไม่ต้องรอการเพาะเลี้ยงเชื้อ แต่สามารถผลิตได้รวดเร็วหากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสขึ้น เช่น ถ้ามีการเก็บข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์หน้าตาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไว้ นักวิจัยจะไม่ต้องรอให้เชื้อกลายพันธุ์จากอินเดีย หรือ บราซิล เข้ามาแพร่ระบาดในไทย แต่สามารถนำพันธุกรรมของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เหล่านั้นมาออกแบบวัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ทันที
3. ด้านความคืบหน้าของการศึกษาวิจัย อัพเดทต้นเดือนมิถุนายน 2564 วัคซีนChulaCov19 ตอนนี้ได้มีการทดลองในสัตว์ทดลองคือลิง ผลคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และได้เริ่มทำการผลิตวัคซีนสำหรับเตรียมฉีดในคนกลุ่มอาสาสมัคร แต่เนื่องจากการทำงานวิจัยบางส่วนต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดังนั้นในขั้นตอนการผลิตวัคซีนเพื่อนำมาทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจึงต้องส่งไปผลิตที่ต่างประเทศ
4. ตอนนี้ทางทีมวิจัยได้มีการจ้างโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตวัคซีนล็อตแรกสำหรับฉีดให้กับกลุ่มอาสาสมัคร และขณะนี้ (อัพเดทต้นเดือนมิถุนายน 2564) อยู่ในขั้นตอนการยื่นเอกสารกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากผ่านจะสามารถนำวัคซีนมาฉีดในอาสาสมัครได้ทันที (คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอาสาสมัครได้ในเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากได้รับการอนุมัติจาก อย.)
5. แม้การทดลองระยะแรกจะมีการศึกษาวิจัยที่ค่อนข้างล่าช้า แต่เมื่อเริ่มผลิตได้จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมายังโรงงานผลิตในไทยที่ชื่อ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัดซึ่งในด้านเทคโนโลยีการผลิต ตอนนี้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมายังโรงงานผลิตในประเทศไทยแล้ว เหลือเพียงแค่การฝึกซ้อมการทำงานของทีมผลิต และทดลองในอาสาสมัครให้ได้ตามเป้าหมาย
6. การผลิตวัคซีนชนิด mRNA ประกอบด้วย กระบวนการผลิต mRNA ที่เป็นส่วนชั้นใน เปรียบเหมือนลูกอมที่ต้องมีส่วนในสุด และมีส่วนภายนอก ที่จะหุ้มส่วนชั้นใน ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2464 ทีมผลิตในโรงงานประเทศไทยจะเริ่มซ้อมกระบวนการการผลิตวัคซีน เรียกว่าเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการรอผลวิจัย
7. นอกจากผลเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว อีกสิ่งที่การวิจัยต่อจากนี้จะต้องค้นหาคือ วัคซีนที่คิดค้นมาได้นั้นจะต้องฉีดกี่โดสในมนุษย์ ซึ่งสำหรับไฟเซอร์ที่เป็นเทคโนโลยีเดียวกันใช้ในปริมาณ 30 ไมโครกรัม ส่วน โมเดอร์นาใช้ในปริมาณ 100 ไมโครกรัม โดยวัคซีนที่คิดค้นจะต้องนำมาหาสัดส่วนในการฉีดที่เหมาะสมเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเริ่มทดสอบในอาสาสมัคร และติดตามผลในอีก 2 เดือนหลังจากนั้นเพื่อศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน
8. สำหรับขั้นตอนทดสอบในอาสาสมัคร ทางทีมวิจัยได้ประสานกับนักวิจัยในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อมูลกลุ่มอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ทั้งนี้ก็เพื่อนำผลเลือดมาเทียบเคียงกับวัคซีนChulaCov19 ที่จะฉีดให้ในอาสาสมัคร เพื่อดูผลของการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งการมีคู่เปรียบเทียบจะทำให้งานศึกษาวิจัยทำได้รวดเร็วขึ้น
9. ในแผนงานเบื้องต้นนั้นหากการทดลองในมนุษย์ระยะแรกได้ผล จะเริ่มทำการวิจัยในระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ซึ่งจะเป็นการทดลองในมนุษย์กลุ่มใหญ่ขึ้น ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 แต่หากมีข้อมูลยืนยันได้ว่า วัคซีนที่ผลิตขึ้นสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ อาจไม่ต้องทดลองในระยะนี้แล้ว และถ้าเป็นไปตามแผนการวิจัยนี้ทางโรงงานไทยจะเริ่มเดินเครื่องผลิตวัคซีน ChulaCov19 ได้ในต้นปี 2565 หรืออย่างช้าคือกลางปี 2565
10. แม้การผลิตวัคซีนในไทยตอนนี้จะช้ากว่าบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ แต่ในระหว่างนี้ทางทีมวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนChulaCov19 รุ่น 2 ควบคู่กันไปซึ่งจะใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่คาดว่าจะเป็นการแพร่ระบาดในระยะต่อไปในอนาคต ซึ่งวัคซีนรุ่นนี้ผลิตในไทยทั้งหมด และตอนนี้ได้ทำการทดลองกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้และบราซิล
11. วัคซีนChulaCov19 รุ่น 2 จะเริ่มผลิตในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 โดยในช่วงเวลานั้นคนไทยน่าจะได้ฉีดวัคซีนที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเกินครึ่งของประชากร ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 2 พัฒนาขึ้นก็เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และหวังผลสู่ประสิทธิภาพในต่อต้านกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดได้
12. แม้ ChulaCov19 จะสามารถผลิตในโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศไทยได้ แต่ทางทีมวิจัยก็ยังต้องซื้อวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทเอกชนที่ทำเรื่องเคมีภัณฑ์ในไทย น่าจะต้องหาแนวทางในการผลิตวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิตวัคซีน เพื่อที่ไทยจะสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ในอนาคต
หมายเหตุ: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
The post รู้จัก วัคซีน ChulaCov19 เทคโนโลยี mRNA โดยทีมนักวิจัยไทย appeared first on SARAKADEE LITE.
ความเห็น 24
AMK
ประเทศที่คิดค้นวัคซีนได้ส่วนใหญ่มหาอำนาจหรือเทคโนโลยีก้าวหน้ามากๆๆ เก่งมากพัฒนาmRNAเลยนะนี่
13 มิ.ย. 2564 เวลา 15.18 น.
Smith
ให้ไว อย่าช้าคนไทยรอฉีด
12 มิ.ย. 2564 เวลา 13.09 น.
น่าจะตั่งชื่อเบจมาศ
12 มิ.ย. 2564 เวลา 03.41 น.
CB
สงสาร
12 มิ.ย. 2564 เวลา 01.09 น.
ตรวจตรา
แจ๋วครับ หมอไทยเก่งอยู่แล้ว
11 มิ.ย. 2564 เวลา 16.21 น.
ดูทั้งหมด