เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เวลา 17.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่าได้มอบนโยบายสำคัญ 3 เรื่องให้กับที่ประชุม โดยเรื่องแรก โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจีโมเดล ซึ่งรัฐบาลอนุมัติให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตนได้เน้นย้ำว่าให้เร่งรัดการนำบีซีจีไปปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะบีซีจีเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน เรื่องที่ 2 บทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการวางรากฐานองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลด้านยาและวัคซีนที่ต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด และการเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายด้านความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต เรื่องที่ 3 การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการอุดมศึกษา ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยขณะนี้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP และงบประมาณในด้านการอุดมศึกษาก็ได้รับความสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนในด้านเหล่านี้จะต้องช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์กับประชาชน
ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านวิทยาศาสตร์-อุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวนวงเงิน 117,880 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทงบประมาณที่สอดคล้องกับมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,427 ล้านบาท (ร้อยละ 60) งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 38,653 ล้านบาท (ร้อยละ 33) และได้จัดให้มีงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 8,800 ล้านบาท (ร้อยละ 7) รวมถึงที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป” ดร.เอนก กล่าว
นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้รายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 1. การพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจีภายใต้ ยุทธศาสตร์หลักคือ สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ, พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์, และเทคโนโลยีสมัยใหม่, ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจบีซีจีให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก 2. บทบาทของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศปก.ศบค. โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันวิจัยทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา 3. บทบาทของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ขึ้น เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ.