โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผอ.สถาบันวัคซีน เผยเบื้องหลัง จองวัคซีน 'โควิด19' เตรียมกระจายเดือนละ 5 ล้านโดส

MATICHON ONLINE

อัพเดต 04 ก.พ. 2564 เวลา 08.30 น. • เผยแพร่ 04 ก.พ. 2564 เวลา 08.30 น.
เบื้องหลัง จองวัคซีน

ผอ. ‘สถาบันวัคซีน’ เผย กว่าจะจองได้ เทหมดหน้าตัก เตรียมกระจาย ‘5 ล้านโดส’ ต่อเดือน เชื่อใจ คนไทยได้ครบ ‘ปลอดภัย-เพียงพอ’

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสำนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในเวทีสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ในรูปแบบ ไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่านทางเฟซบุ๊กในเครือมติชน ถึงการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้ามามีส่วนสำคัญในการหาทางออก นับแต่การระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงรอบปัจจุบัน ว่า

จุดเริ่มต้น กลุ่มพัฒนาวัคซีน

ตอนที่โควิด-19 ระบาด เมื่อมกราคมปีที่แล้ว ด้วยความที่ใกล้ชิดกับ กรมควบคุมโรค ได้ศึกษารูปแบบการแพร่ระบาดของไวรัสใหม่ และเข้าใจตรงกันว่าเรื่องใหญ่แน่ จึงคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง จะวิจัยพัฒนาวัคซีนในไทยได้หรือไม่ โดยได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์ในเครือข่ายต่างๆ กับมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยงานเอกชน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าใครทำอะไรได้บ้าง

เมื่อได้ความเห็น จึงบอกให้กระทรวงสาธารณสุข รับรู้ เพราะในอดีต งานวิจัยวัคซีนไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากยาก ใช้เวลาวิจัยนาน และโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ บางครั้งรู้สึกเสียค่าใช้จ่ายไปเปล่า จึงมาขอทำความตกลง (MOU) แสดงเจตจำนงร่วมกัน จนเกิดเป็นกลุ่มพัฒนาวัคซีน และเกิดกระบวนการสนับสนุน โดยเริ่มต้นใช้งบประมาณของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และงบประมาณของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิจัยภายในประเทศ

ซึ่งจะเริ่มได้ยินชื่อ mRNA กระทั่งวัคซีน บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม หรือวัคซีนของ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทุกคนเริ่มทำของตัวเองที่ถนัด และจากนั้นมาดูโลกว่าเขาทำอะไรไปถึงไหน พบว่าทุกคนพยายามวิจัยและพัฒนาวัคซีน เราจึงมองหาเครือข่ายทำงานกับต่างประเทศด้วย โดยพยามพูดคุยกับหลายภาคส่วน

หาช่องทางวัคซีน

“ณ เวลานั้น ไม่มีใครบอกได้ว่าใครจะสำเร็จ คนนั้นบอกจะเริ่มทำ คนนี้ก็จะเริ่ม ไม่มีใครรู้ว่าใครจะทำงานได้สำเร็จบ้าง แต่ทุกคนทำงานในทิศทางเดียวกัน และแลกเปลี่ยนร่วมกัน โดยทำความร่วมมือกับ ม.ซินหัว ของจีน เป็นที่แรก ขอแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา และเราเริ่มขยายไปคุยกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะในยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา แล้วแต่ประเทศที่เราพอจะคอนเน็กต์ได้ จึงเริ่มมองเห็นช่องทาง

ถ้าเป็นอย่างนี้ทำแบบคู่ขนานดีกว่า หาแหล่งทุนสนับสนุน ทำความร่วมมือกับต่างประเทศ อีกทาง เราเตรียมไว้ว่า ถ้าสุดท้ายทั้ง 2 ขายังไม่ได้ จะเตรียมขาที่ 3 คือ จัดหาซื้อวัคซีนโดยตรง จึงออกมาเป็นพิมพ์เขียว (Blue print) ของการทำงานวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ก็เห็นชอบกับแนวทางนี้ ซึ่งประเด็นขาที่ 3 สำคัญและต้องจับตาดูข้อมูลด้วยว่า ใครใกล้สำเร็จ และกระบวนการวิจัยเป็นอย่างไร

งบ 3,000 ล้านบาท ทราบข้อมูลก่อนตัดสินใจ

ทางสถาบันวัคซีนต้องทำสัญญาต่อข้อมูลด้านความลับกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลเชิงลึกเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งการวิจัยในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ความสำคัญ ได้งบวิจัยมากที่สุดเท่าที่ตั้งสถาบันฯ มา เดิมได้งบประมาณไม่เกินปีละ 20 ล้าน ตอนนี้รวมๆ แล้ว 3,000 ล้านบาท ก็จะใช้ให้หมด เพราะท่านนายกฯ บอกว่า ให้เงินมาแล้วใช้ให้หมด แต่เราไม่ได้สุรุ่ยสุร่าย จะใช้เพื่อเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ”

นพ.นครกล่าวต่อว่า ยามปกติเรามีวัคซีนใช้ แต่ยามฉุกเฉินจะทำอย่างไรจึงจะมีวัคซีนใช้ด้วย ซึ่งตอนทำแผนยังไม่เห็นแนวทาง แต่ตอนนี้อยู่บนความจริง เราเริ่มตอนยังไม่พร้อมนัก แต่เรามีความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ซึ่งต่างประเทศมีการติดต่อจะขอทดลองในไทยอยู่หลายเจ้า แต่ปรากฏว่า เราควบคุมโรคได้ดี จึงไม่เหมาะต่อการทดสอบวัดซีนระยะที่ 3

เขาจึงบอกว่า ขอไปร่วมวิจัยกับพื้นที่ที่ระบาดสูงก่อน นี่คือข้อเท็จจริง ที่การทดลองวัคซีนเฟส 3 ต้องไปทำในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ผลเสียทีว่าได้ผลหรือไม่

ความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี แอสตร้าเซนเนก้า

อีกความร่วมมือ คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบกับ การที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า กำลังต้องการขยายกำลังการผลิตทั่วโลก มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มั่นใจว่าจะมีวัคซีประมาณคริสมาสต์ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมว่าโม้ไปหน่อย แต่เขามั่นใจ ถ้าจะบอกว่าวัคซีนได้ผลแล้วค่อยไปขาย จะไม่ทัน

จึงให้แอสตร้าเซนเนก้า ไปหาพันธมิตรการผลิตทั่วโลก โดยตั้งเป้าให้ได้มากกว่า 3,000 ล้านโดส/ปี เพราะเรารู้ว่า ถ้ามีวัคซีนโควิด-19 ความต้องการจะสูงมาก คนทั้งโลกอยากใช้ ไม่อย่างนั้นโลกทั้งโลกจะออกจากการระบาดได้ช้า นี่คือวิสัยทัศน์และเป้าหมายของเขา

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจึงทำการตกลง กับแอสตร้าเซนเนก้า ว่าถ้าขยายกำลังการผลิตจนสามารถผลิตได้แล้ว เวลาขายห้ามคิดกำไรในช่วงระบาด ให้คำนวณต้นทุนการวิจัยให้ดี บวกกับการผลิต ว่าใช้เงินเท่าไหร่ แล้วไปคิดราคาแบบไม่หวังผลกำไร ตนจึงมองว่าการทำงานแบบนี้น่าสนใจ นอกจากจะเข้าถึงวัคซีน อย่างมั่นใจแล้ว ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จาก แอสตร้าเซนเนก้า

ไทยมีศักยภาพ ผลิตวัคซีน

“เขามามองไทย แล้วเห็นว่าเรามีศักยภาพ สามารถทำวัคซีนในแบรนด์ของเขาได้ ไทยมีต้นทุนอยู่ แค่ปรับนิดเดียวก็สามารถผลิตวัคซีนได้ เขาจึงเดินเข้ามา แล้วบอกว่า เราจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทในประเทศไทย แต่ขอว่ารัฐบาลไทยช่วยจองวัคซีนด้วยได้หรือไม่ เพราะว่าถ้าผลิตในประเทศไทย รัฐบาลไม่จอง เขาจะไปขายต่างประเทศไม่ได้เลย เพราะว่าของตัวเองยังไม่ใช่ จะแปลกมาก ที่ เมดอินไทยแลนด์ แต่ไทยแลนด์ไม่ใช้ เพื่อให้มีความมั่นใจในวัคซีนของประเทศไทย

อีกทั้งจะทำให้เห็นความร่วมมือระดับประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนกับเอกชน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ช่วยมาเป็นพาร์ทเนอร์ในการทำงานร่วมกันได้หรือไม่

ดังนั้น การจองซื้อวัคซีนกับ แอสตร้าเซนเนก้า จึงไม่ใช่การซื้อ-ขายปกติ แต่เป็นการร่วมมือพ่วงเข้ามาด้วย บวกกับการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนเพิ่มภายในประเทศด้วย เป็นที่มาของการจองวัคซีน” นพ.นครกล่าว

จองวัคซีน ไม่ง่าย

นพ.นคร เปิดเผยว่า การจองวัคซีนเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ยากพอสมควร ประเทศอื่นจองได้ง่ายๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ให้แอสตร้าเซนเนก้า ไป 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ เดือนพฤษภาคม โดยให้ไปลงทุนวิจัย ถ้าสำเร็จให้คืนเป็นวัคซีนมา 300 ล้านโดส แต่ถ้าไม่สำเร็จ ไม่เป็นไร ให้เอาเงินไป

ถ้าประเทศไทยทำอย่างนั้นได้คงดีมาก แต่ทำได้ยากมาก นี่คือวิธีการที่จะจอง ซึ่งทุกบริษัทต้องทำเช่นกัน เมื่อจะทำการตกลงกัน ถ้าต้องจองล่วงหน้า ให้วางเงินก่อน ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จ ก็เสมือนต้องรองรับความเสี่ยงร่วมกัน เพราะถ้าอยากใช้วัคซีนแบบมั่นใจอาจจะต้องรอปี 2565 คือวิธีที่เราบริหารจัดการความเสี่ยง

“กว่าที่เราจะสร้างกลไกการจองวัคซีนแบบนี้ได้ ผมปรึกษาศึกษาทีมกฎหมาย ทั้ง ทีมกฎหมายเราเอง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎา, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงบประมาณ, กรมบัญชีกลาง, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทุกท่านก็บอกว่า กลไกการจัดซื้อจัดจ้าง ใน พ.ร.บ.ปกติ ยังทำไม่ได้

สุดท้ายจึงขอความร่วมมือไปที่ท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม บอกว่า ขอทีมกฎหมายมาช่วยหาทางออกร่วมกัน เมื่อปรึกษาหารือ ท่านบอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ความั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ คือให้อำนาจตามมาตรา 18 ซึ่งความจริงมีอยู่เพียงวรรคเดียว คือ ‘ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ประกาศในภาวะฉุกเฉินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในเรื่องของการจัดหาวัคซีน’

กฎหมายเขียนไว้เพียงแค่นี้ แล้วค่อยไปออกว่าเนื้อหาในประกาศจะเป็นอย่างไร กล่าวคือ ต้องใช้กลวิธีทางกฎหมาย จนกว่าเราจะมีกฎหมายรองรับ แล้วค่อยเสนอ ครม.ว่าจะให้จองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้า ได้

มองหาวัคซีน ให้พอเพียงประชาชนทุกคน

จนกระทั่งไปถึง การจองซื้อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่เกิดขึ้น แค่เจ้าเดียวก็เหนื่อยแล้ว กว่าจะได้ เผอิญว่าวัคซีนทำได้สำเร็จเร็ว เราจึงเริ่มเห็นตัวเลือกต่างๆ และนักวิชาการเริ่มเกิดความมั่นใจว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้แน่ๆ ก่อนหน้านี้เราไม่มั่นใจ แต่พอเริ่มทยอยประกาศผล เราเห็นแล้วว่า ข้างหลังที่กำลังทำอีกประมาณ 20 เจ้า จะทยอยสำเร็จออกมาเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นความจริง จีนก็เริ่มบอกว่า ของเขาเริ่มมีผล และเริ่มตามมาเรื่อยๆ และเดี๋ยวจะมีอีก

ดังนั้น ท่าน อนุทิน ชาญวีรกูล ถึงบอกว่า เราจะจัดหาวัคซีนได้จนเพียงพอให้กับประชาชนคนไทยทุกคน เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วงบริหารท่ามกลางความเสี่ยง มีความไม่แน่นอนสูงอย่างมาก จนเราจองวัคซีนได้แล้ว และเป้าหมายต่อไปจะฉีดให้กับคนไทยทุกคน” นพ.นครกล่าว

กลุ่มไหน จะได้ฉีดก่อน

เมื่อถามในรายละเอียดที่ประชาชนให้ความสนใจ หากมีวัคซีนเข้ามาล็อตแรก กลุ่มไหนจะได้รับก่อน แผนที่ทางสถาบันวัคซีน พร้อมที่จะเข้าไปทำงาน และตอบโจทย์การฉีดวัคซีนในแต่ละระยะ มีอะไรในรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นบ้างหรือไม่ ?

นพ.นคร กล่าวว่า ความจริงแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ที่มีนพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 โดยจะวางแผนการกระจายวัคซีน รวมถึงยุทธศาสตร์ในการจัดสรรวัคซีน ส่วนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีหน้าที่จัดหาอย่างเดียว กรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานทำหน้าที่กระจายตามยุทธศาสตร์ และเรามีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศหลายท่านเข้ามาให้ข้อแนะนำทางด้านวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ดูแลในเรื่องวิชาการด้วย

คาดการณ์กลางปี กำลังผลิควัคซีนสูง 18,000 ล้านโดส ต่อปี

กล่าวคือ การทำงาน ณ เวลานี้ ต้องบอกว่าเราใช้หมดหน้าตัก รบกวนอาจารย์อาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญทุกท่าน มาช่วยกัน ในเรื่องของวัคซีน แค่ช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้าเท่านั้นที่เราจะมีจำกัด จะเริ่มเกิดการแย่งชิง ดึงวัคซีนไว้ไม่ให้ออก แค่ช่วงนี้ เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน วัคซีนจะมากขึ้น ขนาดที่องค์การยูนิเซฟ (Unicef) คาดการณ์ว่า ปลายปีนี้ กำลังการผลิตจะสูงมาก ประมาณ 18,000 ล้านโดส/ ปี แต่จำนวนวัคซีนอาจจะมีอยู่ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 9,000 ล้านโดส แต่จะค่อยๆ ไต่ขึ้นไปชันเรื่อยๆ ตอนต้นๆ ช้า

เพราะ ณ เวลานี้ มีเพียงบริษัทเดียวที่เตรียมแผนการกระจายวัคซีน มีซัพพลายไซด์ (Supply-side) เยอะ คือบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จึงเก็บไว้ก่อน ส่วนบริษัทอื่นๆ ค่อยมาขยายทีหลัง เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง ใครจะเสี่ยงมากก็วางกันไปก่อน เพื่อเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งเราลงนามเดือนพฤศจิกายน แต่เขาบอกว่ารอไม่ได้แล้ว จึงถ่ายทอดกันก่อน ไม่อย่างนั้นไม่ทัน ขึ้นอยู่กับว่าซัพพลายไซด์จะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่

ตอนนี้ทุกบริษัทขยายกำลังการผลิตทั้งสิ้น วัคซีนจะทยอยมาในครึ่งปีหลัง จำนวนจะเพียงพอ ในช่วงที่มีจำกัดเราอาจจะต้องเลือกพื้นที่ เลือกกลุ่มประชากร ในพื้นที่ที่สำคัญ ต้องดูทั้ง กลุ่มและพื้นที่ เมื่อวัคซีนเข้ามาก็ต้องมาดูสถานการณ์ เราพูดถึง 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ก็ไม่แน่นอน ถ้าพื้นที่ไหนควบคุมได้แล้วก็จะไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดอีกต่อไป แต่อาจจะไปเจออีกที

บริหารวัคซีน ในภาวะที่จำกัด

ฉะนั้น การบริหารวัคซีนในภาวะที่มีจำกัด ต้องใช้วิธีการดูตามสถานการณ์ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในจำนวนวัคซีนที่มี หลังจากนั้นเมื่อมีมากขึ้น ก็กระจายออกไป เชื่อว่าถ้าเราเริ่มได้สัก 1-2 เดือน เราแทบจะไม่ต้องจำกัดกลุ่มประชากร ใครมีความประสงค์ ก็ไปลงทะเบียนรับวัคซีนได้

เช่น บุคลการทางสาธารณสุข ด่านหน้า รวมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐ และเอกชน 700,000 คน พี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) 1.5 ล้านคน รวม 2.2 ล้านคน ฉีดเดือนเดียวก็เสร็จ ทุกคนรับไปก่อน 1 โดส อีก 3 เดือนมารับอีก 1 โดส เราคาดหมายว่าจะทำประมาณ 5 ล้านโดส/เดือน และกำลังวางแผนให้ทำได้มากว่า 5 ล้านโดสนี้ เพื่อกระจายให้ได้มากที่สุด

นพ.นคร กล่าวต่อว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่กำหนดไว้ เขาให้เราวางแผนได้ตามความเหมาะสม 26+35 รวม 61 ล้านโดส ว่าจะขอให้เขาส่งมอบเท่าไหร่ เพราะกำลังการผลิตที่สยามไบโอไซน์ รับถ่ายเทคโนโลยีการผลิต อยู่ที่ประมาณ 15-18 ล้านโดส/เดือน ที่เหลือเขาต้องส่งออกให้ประเทศเพื่อบ้าน จึงไม่ใช่เราบอกว่า ฉีดได้เดือนละ 5 ล้าน แต่ขอกั๊กไว้ 10 ล้าน อย่างนี้ก็ไม่ถูก ถ้าเราฉีดได้ 5 ล้าน เราอาจจะขอ 6 ล้าน ไว้เป็นบับเบิล จากนั้นขอวัคซีน แล้วฉีดตามแผนของเราไป

รอดูผลข้างเคียง หลังฉีดวัคซีน

เมื่อเริ่มฉีด เชื่อว่าประชาชนจะมีความมั่นใจมากขึ้น จะเห็นว่าวัคซีนมีความปลอดภัยมาก-น้อยแค่ไหน ระหว่างเวลานี้ที่ต่างประเทศเริ่มฉีดวัคซีนชนิดที่เรากำลังจะเอามาใช้ ก็จะเริ่มเห็นข้อมูล เช่น อังกฤษ ฉีดไปแล้ว 500,000 โดส ณ เวลานี้ยังไม่มี ข่าวว่าจะมีข้างเคียงรุนแรงอะไร เขาเริ่มฉีดต้นเดือนมกราคม และหลายประเทศก็เริ่มฉีด จำนวนโดสที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับล้านโดส ผลข้างเคียงรุนแรงที่ไม่เคยเกิด น่าจะเจอ

เมื่อหมดหลายล้านโดส จะมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น จากข้อมูลที่เราเก็บ จะทำให้วางแผนการทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มไหนที่คิดว่าจะมีความเสี่ยง ผลข้างเคียงรุนแรง ก็จะมีข้อมูล เช่น ก่อนเริ่มใช้วัคซีน mRNA ยังไม่มีข้อกำหนด หรือข้อควรระวังอะไร ฉีดไปสักพักก็ค่อยมากำหนดข้อควรระวัง ใครมีประวัติแพ้วัคซีนรุนแรงอย่าเพิ่งฉีด ถ้าคัดกรองอย่างนี้ จะเริ่มมีความมั่นใจและเห็นภาพความปลอดภัยของวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะได้กระจายวัคซีนให้ได้ครอบคลุม

วัคซีน เหมือนเข็มขัดนิรภัย

“เรียนอีกครั้งว่า วัคซีนเป็นเหมือนเครื่องมือที่ต้องมาเสริมมาตรการควบคุมโรค ผมมักเปรียบเทียบว่า วัคซีนคือการลดความเสี่ยงต่อการป่วย เหมือนกับเข็มขัดนิรภัย ที่ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรง ถ้าเราฉีดวัคซีน แต่ดำรงตนประมาท ก็เหมือนเราคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วขับรถยนต์ ที่ 200 กม./ชม. เข็มขัดก็คงไม่ช่วยอะไรเรา วัคซีนก็คงไม่ช่วยเรา ถ้าเราประมาท ไม่ใช้หน้ากาก ยังเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ถ้าจำเป็นก็ไม่เป็นไร แต่หากไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น จะทำให้ผลของวัคซีนลดลงไปโดยปริยาย ทั้งหมดนี้ ทำให้เราปิดจบการระบาดได้เร็ว

ถ้าเราบอกว่า เราควบคุมโรคได้ดี เราฉีดวัคซีนได้เยอะ แต่ประเทศอื่นยังควบคุมได้ไม่ดี เราก็จะยังกลับไปอยู่ในภาวะ‘เนียร์ นอร์มอล’ ไม่ได้ องค์การอนามัยโลก ยังบอกเลยว่า We will not be safe until everyone is safe เราจะยังไม่ปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ดังนั้น ถ้าเราจะขยับไปข้างหน้า ขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคม ต้องไปด้วยกัน” นพ.นครกล่าว

สำหรับ การสัมมนาครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องในโอกาส หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา โดยหนังสือพิมพ์มติชนชูแนวคิด “ประเทศไทยไปต่อ” ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นกำหนดจัดการสัมมนา 3 ครั้ง ประกอบด้วย การสัมมนาหัวข้อ เบรกทรู ไทยแลนด์ 2021 ในรูปแบบ เวอร์ชวล คอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา การสัมมนาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในชื่อ “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ในรูปแบบ ไลฟ์ สตรีมมิ่ง และจะมีการสัมมนาอีกครั้งในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งกำลังเตรียมหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงทุกขณะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • ศุภากร
    แปลกนะทั้งๆที่เห็นถึงการระบาดและมีผลต่อคนทั้งประเทศกลับบอกว่าติดขั้นตอนไม่สามารถทำได้ นี่หรือประเทศไทยตลก
    04 ก.พ. 2564 เวลา 11.33 น.
  • visit dam
    ดูเป็นการค้ามากว่า ถ้าพัฒนาการรักษาได้วัคซีลก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน สร้างข่าวให้ตื่นเต้นเพื่อผันเงินมาใช้กันหรือเปล่า พม่า อินเดีย เริ่มฉีดกันแล้วแต่ไทยต้องดูก่อน ใช้ฟ้าทะลายโจรก็รู้สึกดีหายได้เลยแต่พยายามบิดเบือนข่าว
    04 ก.พ. 2564 เวลา 10.45 น.
  • JZTP
    เก่งคับแต่ เปิดใจยอมรับว่าโลกกว้างใหญ่มีคนเก่งกว่าเราเยอะ เราอาจจะเก่งในการป้องกัน lockdown แต่ อาจจะมีคนเก่งกว่าในแง่ของการบริหารจัดการวัคซีน ยังทำในสิ่งที่เราถนัดจะดีกว่านะคับ ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่องหรอกคับ
    04 ก.พ. 2564 เวลา 10.43 น.
  • ตุ้มหนองแขม2
    ฟังดูเหมือนการหาวัคซีนยากเย็นเหลือเกินแต่พม่าได้ฉีดกันแล้วช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมหรือวัคซีนที่เขาฉีดไม่มีคุณภาพ
    04 ก.พ. 2564 เวลา 10.22 น.
  • hice.f
    Why Bio Sience?
    04 ก.พ. 2564 เวลา 09.34 น.
ดูทั้งหมด