รศ.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าพัฒนาเครื่องมือที่จะเก็บข้อมูลและรายงานผลได้แบบเรียลไทม์ภายใต้ชื่อ “ดัสท์บอย” (DustBoy)เครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์
‘เซ็นเซอร์’ หัวใจสำคัญ
ดัสท์บอยดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี ในช่วงแรกได้มีการพัฒนาเครื่องขนาดใหญ่ ต้นทุนสูง จึงเสาะหาวิธีการจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน ก็พบกับเทคนิคการใช้ Low Cost Sensor และได้ทำทดลองอุปกรณ์เซ็นเซอร์จากนั้นผลิตและทดสอบในภาคสนามก็พบว่าเซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้น สามารถใช้งานได้ จึงขยายผลโดยทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้สนับสนุน
“หลังจากพัฒนามาหลายรูปแบบเพื่อรองรับผู้ใช้ที่มีหลายกลุ่ม อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาล กระทั่งพัฒนามาจนถึงรุ่นล่าสุดที่ใช้ NB-IoT สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ และส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ จึงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนดูผลการวัดนี้ได้ โดยไม่ต้องอาศัยไวไฟ ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่พัฒนาขึ้น” รศ.เศรษฐ์ กล่าว
แต่จากการที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเพราะด้วยเริ่มแรกผู้ที่สามารถทำได้คือ คพ. อีกทั้งพีเอ็ม 2.5 ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ เครื่องมือในการตรวจวัดยังมีจำนวนน้อย ดัสท์บอยจึงอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เมื่อได้มีการร่วมมือกับหลายภาคส่วนประกอบกับพัฒนาฟังก์ชั่นเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ จึงทำให้ดัสท์บอยกลับมาเป็นที่รู้จักและเริ่มมีการใช้งานจำนวนมากขึ้น
ดึงเอไอพยากรณ์ฝุ่น 7 วัน
ด้วยการมองเห็นถึงความสำคัญ “ดาต้า” เนื่องจากมีการเก็บแบบรายวินาทีทุกสเตชั่น เพื่อนำไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย 13 กลุ่มโรคในโรงพยาบาล และสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน
“ส่วนการพยากรณ์ ปัจจุบันใช้โมเดลที่ชื่อว่า WRFChem หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการใช้ข้อมูลหลายอย่างในการแปลผล ประกอบด้วย ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจุดความร้อน (hot spot) ข้อมูลแบบจำลองของโลก และข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ทำให้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน แม่นยำสูงถึง 60% และในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถทำนายได้ถึง 7 วัน อีกทั้งกำลังพัฒนานำปัญญาประดิษฐ์มาร่วมด้วย และเทียบข้อมูลกับดาวเทียม เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จและมีเวอร์ชั่นแรกออกมาในช่วงกลางปีนี้
เป้าหมายของดัสท์บอยคือต้องมีให้ครบทุกตำบล ทุกจังหวัดในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ได้อาศัยข้อมูลจากทางกรมควบคุมมลพิษ ในการติดตั้งสถานีขนาดใหญ่ ซึ่งมีการติดตั้งไปแล้ว 400 จุด ทั้งใน จ.เชียงใหม่ ภาคเหนือตอนบน-ล่าง ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. และจะขยายเพิ่มอีกในปี 2564 ประมาณ 500-700 จุด อีกทั้งตั้งเป้าอัพสเกลให้ได้ 2-3 พันจุด ทั่วประเทศไทย
รุกเปิดพิมพ์เขียวขยายการพัฒนา
ในส่วนของการขยายสู่เชิงพาณิชย์จะทำงานผ่าน “นวัตกรรมแบบเปิด” ที่เป็นการแชร์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ และ Open API ดาวน์โหลดข้อมูลได้ในเว็บไซต์ทุกสเตชั่น คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2565 เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำส่วนของข้อมูลให้สมบูรณ์
ปัจจุบันได้ทำการบูรณาการข้อมูลเซ็นเซอร์กับหน่วยงานอื่นด้วยในระดับต่างประเทศ โดยได้เชื่อมต่อกับหน่วยงานด้านคุณภาพอากาศ AQICN.ORG, WAQI.INFO, AirBox ของไต้หวัน ส่วนหน่วยงานในประเทศก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เช่นกัน เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำข้อมูลจากดัสท์บอย รายงานสถานการณ์ฝุ่นผ่านแอพ “Air CMI” ทุกอำเภอใน จ.เชียงใหม่ และสามารถใช้ควบคู่กับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาในการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่ จึงถือเป็นจังหวัดนำร่องแรกของไทย ทั้งนี้สามารถเข้าถึงการรายงานคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ผ่านเว็บไซต์ www.cmuccdc.org และ pm2_5.nrct.go.th อีกทั้ง CMU Mobile
ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1. ทราบข้อมูลฝุ่นควันแบบเรียลไทม์ นำไปปฏิบัติตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ 2. ต้นทุนในการผลิตต่ำ สามารถพัฒนาและขยายผล พร้อมทั้งกระจายไปติดตั้งได้ในหลายพื้นที่ เช่น โรงเรียน ชุมชน บริษัทต่างๆ 3. ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาสะดวก 4. ระบบจัดเก็บข้อมูล Big Data Management ที่มีประสิทธิภาพ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการได้ในวงกว้าง ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ
ความเห็น 0