ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่สามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดติดอันดับหนึ่งของโลก เช่น ข้าวเจ้า มันสำปะหลัง และ ยางพารา แต่เกษตรกรไทยกลับยากจน เพราะสินค้าเกษตรเป็นสารอินทรีย์ทำให้เกิดการบูดเน่า เสียหายเร็ว จึงถูกกดราคา
การส่งเสริมเพิ่มมูลค่าตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ล่าสุดสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประดิษฐ์ นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากวัตถุดิบเกษตรไทย
(ข้าวฟองสุรดา)
ข้าวเจ้า มีองค์ประกอบหลัก 80 % เป็นแป้งคาร์โบไฮเดรต ที่ย่อยสลายได้หมดสิ้นภายในร่างกายมนุษย์ นำมาแปรรูปเป็น วัสดุชนิดฟองน้ำให้ศัลยแพทย์ใช้ห้ามเลือดในห้องผ่าตัดแบบไร้เชื้อ
ด้วยหลักการดูดซับของเหลวเข้าสู่ข้างในเนื้อชิ้นงานเกิดมีน้ำหนักสูงขึ้นกว่าน้ำหนักแห้ง 30 เท่า ใช้กดทับหยุดเลือดที่กำลังรินไหลจากบริเวณความดันต่ำ เช่น หลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดฝอย เมื่อปล่อยทิ้งชิ้นงานไว้กับที่ เนื้อเยื่อร่างกายก็สามารถย่อยสลายสมบูรณ์ได้ใน3สัปดาห์ และก่อปฏิกิริยาอักเสบตามธรรมชาติที่น้อยกว่า เนื่องจากสินค้าต่างประเทศเป็นโปรตีน
(กระดุมโชติกา)
กระดูกสัตว์ 70% ของกระดูกสัตว์ เป็นแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตไฮดรอกไซด์ มีโครงสร้างโมเลกุลเช่นเดียวกับกระดูกมนุษย์ กระดูกวัวแปรรูปเป็นกระดูกเทียม ใช้รักษาซ่อมแซมเติมเต็มช่องว่างในกระดูกผู้ป่วยที่บาดเจ็บเสียหายรุนแรง จนไม่อาจซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง เช่น กระดุมปิดตรึงกะโหลกศีรษะ แท่งผงเม็ดสำหรับเติมเต็มโพรงที่แหว่งโหว่ กระดูกเทียมจะเป็นโครงสะพานนำร่องให้กระดูกใหม่ที่มีชีวิตมาเชื่อมต่อกันโดยสนิท
ชีววัสดุจากข้าวเจ้าและกระดูกสัตว์ ประดิษฐ์คิดค้นได้ภายในประเทศไทย โดยนักวิทยาศาสตร์ไทย ได้มาตรฐานตามกำหนดขององค์กรผลิตเครื่องมือแพทย์นานาชาติ รับประกันจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทย ว่า มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง ปลอดภัย ต่อผู้ป่วยและมีประสิทธิภาพเชิงการใช้งานจริง อีกทั้งมีคุณภาพที่ดีขึ้น และราคาถูกลง เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันจากต่างประเทศ
- วัสดุห้ามเลือดชนิดฟองน้ำ ประเทศไทยมีสถิติการใช้งาน ประมาณ 200,000 ชิ้นต่อปี ทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ชิ้นละประมาณ 400 บาท มีมูลค่ารวม 80 ล้านบาทต่อปี ส่วนฟองน้ำข้าวเจ้าห้ามเลือดของไทย มีราคาชิ้นละ 200 บาท สามารถลดการขาดดุล 40 ล้านบาทต่อปี
-ส่วนกระดุมยึดตรึงกะโหลก สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตจากโลหะไทเทเนียม ราคา 3,000 บาท ต่อคู่ (2 ชิ้น) ทั้งประเทศใช้งานประมาณ 20,000 คู่ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท
-ส่วนกระดุมกระดูกวัว ของไทยราคาคู่ละ 150 บาท ถูกกว่า 20 เท่า และความพิเศษจากกระดุมกระดูกวัว ที่ทำมาจากกระดูกเทียม เมื่อใช้งานเชื่อมตรึงกะโหลกศีรษะผู้ป่วยจนสำเร็จ ร่างกายก็จะสร้างกระดูกใหม่ที่มีชีวิตมาเชื่อมติดจนเป็นเนื้อเดียวกัน ในขณะที่สินค้าจากต่างประเทศทำมาจากโลหะ ก็จะเป็นวัสดุแปลกปลอมที่อยู่กับที่ตลอดกาล และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น อนุภาคโลหะสึกกร่อน ออกมาทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างของผู้ป่วยอักเสบจนเจ็บปวดรุนแรง หรือหลุดออกไปตกค้างในอวัยวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ม้าม หรือตับ แล้วกระตุ้นปฏิกิริยาก่อมะเร็งได้
การประดิษฐ์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ จากวัตถุดิบเกษตรไทยนี้ จึงนับเป็นเทคโนโลยีของคนไทย ที่เกิดเป็นครั้งแรกในโลกและในประเทศไทย ที่ใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีของไทย ที่มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศมาก ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสารอินทรีย์ ขยะเป็นสูญ และปลอดมลภาวะ หากมีการยอมรับจากผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นก็จะสามารถลดงบประมาณการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกได้ปีละหลายร้อยล้านบาท
นายแพทย์สิทธิพร บุณยนิตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยนวัตกรรมชีววัสดุและเครื่องมือแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อนาคตจะมีการค้นคว้าเพื่อแปรรูปวัตถุดิบเกษตรไทยทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้า มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เปลือกหอย เห็ดรา ผลไม้ หรือสมุนไพร ให้มีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ขายได้ราคา อย่างเครื่องมือแพทย์
โดยขณะนี้กำลังหาความร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชนที่มีกำลังการผลิตระดับอุตสาหกรรม และมีเครือข่ายตลาดเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุมทั้งในประเทศในระดับ ASEAN ASIA และทั่วโลกระดมทุนยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิต จนมีการได้รับมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ระดับสากลให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เช่น GMP GDPMD ISO CE FDA
ที่มา : https://bit.ly/3e6nsbU