โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

​พก. รับมอบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ทางการแพทย์ จาก วช. ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านคนพิการและผู้สูงอายุ

สวพ.FM91

อัพเดต 18 มี.ค. 2564 เวลา 12.52 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2564 เวลา 12.49 น.
​พก. รับมอบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ทางการแพทย์ จาก วช. ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านคนพิการและผู้สูงอายุ

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับมอบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สำหรับงานทางการแพทย์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และทีมผู้วิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 
นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่าอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคจะพบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ พก. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมด้านคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุและส่งเสริมให้คนพิการและผู้อายุ ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในวันนี้ พก. ได้รับมอบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สำหรับงานทางการแพทย์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่เป็นผลงานประดิษฐ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ และทีมผู้วิจัย แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ โดยนวัตกรรมหุ่นยนต์จะช่วยลดการสัมผัสให้น้อยลง เว้นระยะห่าง ลดการติดเชื้อและการกระจายแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี รวมไปถึง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้บริการ ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะผู้วิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมในพิธี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น