โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

ชู "3โมเดล" สังคมผู้สูงอายุ เปลี่ยนเกษียณให้เป็นพลัง!

เดลินิวส์

อัพเดต 14 เม.ย. 2564 เวลา 04.26 น. • เผยแพร่ 13 เม.ย. 2564 เวลา 08.56 น. • Dailynews
ชู
วันที่ 13 เม.ย.ของทุกปีนอกจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วยังเป็นวัน “ผู้สูงอายุแห่งชาติ” โดยประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 58 และเป็น “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ในปี 64 หมายถึงมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด หลังจากนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 74) จะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ด้วยผู้สูงอายุตามอัตราส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,186,727 คน เป็นคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11,627,130 คน คิดเป็น 17.57% ของประชากรทั้งหมด แยกเป็นผู้มีอายุ 60-69 ปี จำนวน 6,579,893 คน และช่วงอายุ 70 ปี ขึ้นไปจำนวน 5,047,237 คน สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด (60 ปีขึ้นไป) คือ กรุงเทพฯ 1,108,219 คน นครราชสีมา 473,457 คน เชียงใหม่ 349,755 คน ขอนแก่น 325,927 คน อุบลราชธานี 289,058 คน

เปิดโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดตัว ยุทธศาสตร์Quick Wins โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” โดย วช.จะดำเนินการเพื่อสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทั้งคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้สามารถเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์

สำหรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในปี 64 จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และสร้าง “แพลตฟอร์ม” โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการในปี 65 มุ่งเน้นการขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เสริมทีมสร้างโอกาส เพิ่มความยั่งยืน โดยหน่วยงานขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลภาพรวม

หลังจากนั้นในปี 66 จะผลักดันให้เกิดผล ด้วยการเพิ่มทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาให้เกิดศักยภาพ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งนี้การดำเนินงานจะมีกลไกขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง และการขับเคลื่อนจากหน่วยงานความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ และวช.ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีการดำเนินงานในลักษณะความร่วมมือระหว่าง วช. และหน่วยงานความร่วมมือ 20 หน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร-กรมกิจการผู้สูงอายุ-สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-การเคหะแห่งชาติ

สร้างงานด้วยผู้บริบาลผู้สูงอายุในชุมชน

ขณะที่ .พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวถึง “แพลตฟอร์ม” ความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ : เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ว่าเนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างยิ่งยวด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเตรียมสังคมเพื่อรองรับ ถ้าจะอาศัยแต่กระบวนการภาครัฐซึ่งให้ 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีผู้จัดการเกี่ยวกับผู้สูงอายุแค่ 2 คน แล้วมีผู้ดูแลผู้สูงอายุ 4 คน  มีผู้ช่วยอีกประมาณหนึ่ง คงไม่เพียงพอที่จะดูแลคนทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือขบวนการสร้างผู้บริบาลผู้สูงอายุขึ้นมาในแต่ละชุมชนให้เพียงพอ

อันนี้คือสิ่งสำคัญ แต่การที่จะสร้างผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้บริบาลผู้สูงอายุในชุมชน จะต้องมีขบวนการอบรมให้เขาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้บริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แล้วสิ่งสำคัญที่สุดควรจะให้เขาทำงานร่วมกลุ่มกัน สิ่งที่จะเกิดตามมาคือจะทำให้เกิดการพาคนแก่กลับบ้าน เพราะคนแก่ปกติเมื่อพึ่งตัวเองไม่ได้หรือติดเตียงป่วย ก็จะต้องไปแสวงหาที่ดูแลที่อื่น แต่ถ้าเมื่อไหร่ในบ้านเกิดของเขาซึ่งเขาเติบโตมาแล้วอยู่อาศัยมาตลอด มีบริการของงานเหล่านี้มันจะทำให้เขาอยู่ในที่ที่เขาอยู่ได้อย่างมีความสุขและราคาไม่แพง เพราะคนที่มาดูแลเขาคือลูกหลานในชุมชน ในหมู่บ้านที่รู้จักคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก อันนี้คือคอนเซปต์ของเรา

เพราะฉะนั้นงานโครงการของเรา คือสร้างองค์ความรู้ที่จะผลิตผู้บริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ  ช่วยกันสร้างกลุ่มผู้บริบาลผู้สูงอายุให้ทำงานร่วมกันเป็นชุมชน แล้วผลักดันสู่หน่วยเศรษฐกิจซึ่งเราเรียกว่าวิสาหกิจชุมชน เพื่อที่จะได้ดูแลผู้สูงอายุในบริเวณใกล้เคียงและในชุมชนของตัวเอง สำหรับเด็กซึ่งตกงานไม่มีงานทำ หรือเป็นหนุ่มชาวบ้าน สาวชาวนาทำงานรับจ้างวันหนึ่ง 200-300 บาท จะสามารถผันตัวเองให้เป็นผู้บริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ ซึ่งมีรายได้ประจำเงินค่าตอบแทนที่ได้ประมาณเดือนละ 15,000-20,000 บาท  ใครที่ทำงานหนักหน่อยจะได้ถึง 20,000 กว่าบาท    

“ยกตัวอย่างของชุมชนแม่มอก ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเราไปทำมาตลอด 3 ปี อบรมผู้บริบาลผู้สูงอายุจากหนุ่มชาวบ้าน สาวชาวนาเหล่านี้รวม 100 คน แต่ที่ยังทำงานกันอย่างเข้มแข็งมีอยู่ประมาณ 60 คน ถ้าเฉลี่ยคนหนึ่ง 15,000 บาท ภายใน 1 ปี เป็นเงิน 1,200,000 บาท จากหมู่บ้านธรรมดาๆ นอกจากได้เงิน 1,200,000 บาทแล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น เพราะคนมีงานทำ ทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง ช่วยให้ชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพ แล้วถ้าเขาเก่งขึ้นอีกก็จะสร้างเนอร์สซิ่งโฮมในชุมชนของเขา รองรับผู้สูงอายุจากที่อื่นที่ยังไม่มี ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจในการดูแลผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น”

ชู “3โมเดล ช่วยชุมชนและผู้สูงอายุ 

ศ.พญ.จิรพร กล่าวต่อไปว่างานวิจัยจาก วช. เที่ยวนี้ที่เราได้มา คือได้ทุนมาเพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ“แม่มอกโมเดล” ถือเป็นโมเดลพื้นฐาน คือมีหลักสูตรการอบรมผู้บริบาลผู้สูงอายุโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะทางออนไลน์  แต่เราเติมความสามารถในการนวดแผนไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยบูรพา ให้สามารถนวดดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุที่อาจจะป่วยไข้ได้ นอกจากนั้นยังเติมวิชาของผู้ประกอบการ เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่าวิสาหกิจชุมชน เราได้โมเดลพื้นฐานแล้ว ยังจะไปต่อที่ จ.น่าน เพื่อสร้างโมเดลผู้บริบาลผู้สูงอายุมีความรู้เรื่องภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตัวเอง สามารถนำผู้สูงอายุท่องเที่ยวในถิ่นนั้น ๆ ได้ อันนี้จะเป็น “น่านโมเดล”

ในส่วนของ “อีอีซี โมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลที่ 3 ซึ่งเราจะสร้างจากงานวิจัยครั้งนี้ จะต้องเลือกคนที่มีศักยภาพในการฝึกภาษาจีน-ญี่ปุ่น-อังกฤษ เพื่อรองรับผู้สูงอายุจากต่างประเทศที่อยากเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เพราะเมืองไทยมีจิตบริการที่ดี กลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศในระดับเมดิเคิล ฮับ  เพราะฉะนั้น 3 โมเดลนี้ ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ อยากจะนำ 3 โมเดล ไปวางไว้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น จ.ศรีสะเกษ มีภูมิรัฐศาสตร์อีกแบบหนึ่ง หรือว่า จ.นครราชสีมา ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง หรือทาง จ.จันทบุรี มีจุดเด่นในเรื่องการเกษตรกรรม-ผลไม้ต่าง ๆ จะก่อให้เกิดรายได้ที่ดีในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และที่สำคัญคือช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเร่ร่อนไปอยู่ที่อื่น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น