ในหลวงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 122 ล้าน จัดหารถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ 2 คัน - ชุด PPE จำนวน 7 แสนตัวเพื่อกระจาย รพ.ทั่วประเทศ พร้อมจัดสร้างรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก 7 คัน เผยทรงติดตามการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ไทยป่วยรายใหม่ 171 ราย ตั้งเป้าค้นหาเชิงรุกโรงงานสมุทรสาคร 600 แห่งต่อวัน หวังเคลียร์เสร็จในเดือนนี้ นายกฯ พอใจแพร่ระบาดแนวโน้มจะลดลง รพ.ศิริราชแจงบุคลากรติดโควิด 6 ราย เป็น จนท.ด้านเอกสารติดจากภายนอก ขอให้มั่นใจมีมาตรฐานป้องกันอย่างดี เมื่อวันที่ 19 มกราคม เวลา 13.19 น. ที่สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับพระราชทานรถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยมีนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วมในพิธี ทั้งนี้ รถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน เป็นรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัลพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 คัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดสร้าง และอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานประกอบด้วย ชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว, ชุด PPE แบบชุดหมีกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว และชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ จำนวน 3 รุ่น รวม 700,000 ตัว ในการนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 122 ล้านบาท ในการจัดหารถยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก 7 คัน จากที่ได้พระราชทานไปแล้ว 13 คัน รวมเป็น 20 คัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 26,916,131 บาท สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อหาเชื้อในระบบทางเดินหายใจและนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยไม่ต้องเดินทางไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการค้นหาผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังพระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดอีกด้วย หวังเคลียร์จบก่อนสิ้นเดือน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทินให้สัมภาษณ์ภายหลังรับพระราชทานชุด PPE จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า วันนี้ได้รับพระราชทานชุด PPE จำนวน 700,000 ชุด และรถเอกซเรย์ 2 คัน นี่คือพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ยังได้บริจาคน้ำยาตรวจหาเชื้อประมาณกว่า 500,000 ลิตร ซึ่งจะทำให้การตรวจหาเชื้อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 158 ราย มาจากผู้ป่วยในระบบเฝ้าระวังและบริการ 33 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 125 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร 120 ราย เป็นคนไทย 14 ราย และแรงงานต่างด้าว 106 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 13 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 12,594 ราย หายป่วยสะสม 9,356 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,168 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 70 ราย และขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมกระจายอยู่ใน 61 จังหวัด แบ่งเป็นจังหวัดที่มีรายงานการติดเชื้อในช่วง 7 วัน ที่ผ่านมา 30 จังหวัด, ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา 31 จังหวัด และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเลย 16 จังหวัด นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หยิบยกประเด็น จ.สมุทรสาครมาพูดคุยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้แม้จะน้อยลงกว่าวันก่อน ถือว่าเบาใจได้ แต่อย่าเพิ่งวางใจเพราะยิ่งค้นหาเชิงรุกมากเท่าไหร่ยิ่งเจอ จึงวางแผนการสอบสวนโรคว่าจะทำการสุ่มตรวจโรงงานละ 50 ราย ให้ได้วันละ 600 โรงงาน ซึ่ง จ.สมุทรสาครมีโรงงานทั้งสิ้น 11,467 แห่ง จึงจำเป็นต้องระดมบุคลากรทางการแพทย์จาก 12 เขตตรวจราชการเข้าไปในพื้นที่ ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ตรงนี้รัฐทำอย่างเดียวไม่ได้ โรงงานต่างๆ ต้องร่วมมือด้วย เนื่องจากจำนวนที่วางแผนไว้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เราอยากตรวจให้เร็วที่สุด เพราะมาตรการต่างๆ ที่ออกข้อกำหนดมาจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งภายในเดือนนี้เราจะทำให้ได้มากที่สุด จึงขอให้เอกชนและภาคประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ เพราะถ้าจัดการโรคได้จะควบคุมได้เร็ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วน กทม.ยังน่าเป็นห่วง แม้กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทรงๆ ลดๆ แต่เมื่อดูผู้ติดเชื้อแล้วจะอยู่ในโซน กทม.ตะวันตก ซึ่งติดกับ จ.สมุทรสาคร และสาเหตุมาจากสถานบันเทิงที่อาจจะมีความเชื่อมโยงกับที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้มาตรการต่างๆ จึงต้องทำควบคู่กันไป ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference โดยก่อนการประชุมที่บริเวณด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะเข้าพบนายกฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผลงานวิจัยที่ได้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ "รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564" ศิริราชแจงติดเชื้อจากภายนอก ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องการแพร่ระบาดโควิดในตอนนี้คิดว่ามีแนวโน้มจะลดลง เราควบคุมได้แม้ตัวเลขจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าควบคุมได้ไม่มีปัญหา เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องมาตรการคัดกรอง เรื่องการจัดพื้นที่ควบคุม วันนี้มีพื้นที่ควบคุมใหม่ที่เกิดขึ้นมาในเรื่องของ Factory Quarantine ใช้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ควบคุมของเขาเอง ข้อสำคัญต้องขอความร่วมมือทุกคนในเรื่องมาตรการต่างๆ อาจจะต้องยังคงเดิมต่อไป การจะตอบได้ถึงเมื่อไหร่เหล่านี้ต้องรอดูการประเมินผลเป็นวาระๆ ไป วันนี้ต้องดูผลสิ้นเดือนนี้ไปก่อน เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์เปิดเทอม 1 ก.พ.ยังเหมือนเดิมหรือไม่ หากเทียบกับสถานการณ์ติดเชื้อที่ยังไม่คลี่คลาย หากรอประเมินอีก 14 วันที่ครบกำหนด 31 ม.ค. อาจทำให้ผู้ปกครองนักเรียนเตรียมตัวไม่ทันเปิดเทอม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา ที่โรงพยาบาลศิริราช นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีบุคลากรของ รพ.ศิริราชติดเชื้อว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค. มีเจ้าหน้าที่เดินเอกสาร ที่ตึกอดุลยเดชวิกรม แต่มีการรับเชื้อมาจากชุมชน เมื่อมาทำงานมีอาการก็เลยมาตรวจเชื้อที่โรงพยาบาล ซึ่งผลออกมาว่าติดเชื้อ และพบว่ามีคนใกล้ชิดเสี่ยงสูง 4 คน จึงเข้ารับการตรวจเชื้อและพบว่า 3 ใน 4 คนติดโควิด จึงนำตัวทั้งหมดมารับการรักษารวม 4 คน จากการสืบสวนโรคในระบบของโรงพยาบาลเพื่อค้นหาผู้ป่วย ทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ พบมีรวม 50 คนที่อาจสัมผัสเสี่ยงปานกลาง โดยได้นำมาตรวจทั้งหมด ทั้งการตรวจแบบสวอปทั้งหมด พบติดเชื้อ 2 คน แต่ 48 คนไม่พบเชื้อ ทำให้มียอดรวมผู้ป่วยจากเคสนี้แค่ 6 คนเท่านั้น รักษาใน รพ.และจะมีการนำตัวผู้ป่วยและคนเสี่ยงทั้งหมดมาตรวจเชื้อซ้ำในวันที่ 7 และ 14 ตามระยะเวลาการดำเนินของโรค และระหว่างนี้สำหรับคนที่ตรวจไม่พบเชื้อ 48 คน ให้ทำงานแบบโฮมควอรันทีนเพื่อกักตัวดูอาการ แต่กรณีที่กลุ่มคนเหล่านี้ในครอบครัวมีผู้สูงอายุหรือพักต่างจังหวัด รพ.ได้จัดหาพื้นที่ให้อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำ 20 คนก็มีการตรวจเชื้อเช่นกัน ไม่พบเชื้อและให้ปฏิบัติงานปกติ แต่มีมาตรการคุมเข้มสวมหน้ากากตลอดเวลา ย้ำไม่ใช่การติดเชื้อภายใน แต่เป็นภายนอกและไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาผู้ป่วย ด้าน รศ.นพ.นริศ กิจรณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และไม่ได้ติดจากคนไข้ ผู้ติดเชื้อเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านเอกสาร และมีการติดเชื้อจากชุมชนที่อยู่อาศัย ส่วนสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอาคารที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน ตรวจชิ้นเนื้อทางการแพทย์ และส่วนรับส่งร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิต ไม่ใช่ตึกที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ดังนั้นขอให้ผู้มารับบริการมั่นใจได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย อีกทั้งโรงพยาบาลศิริราชมีมาตรฐานในการป้องกันอย่างดี.
ความเห็น 0