โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไทย เตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

อินโฟเควสท์

อัพเดต 19 พ.ค. 2563 เวลา 10.16 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2563 เวลา 10.11 น. • สำนักข่าวอินโฟเควสท์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวดีสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล่าสุดงานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ อว.มอบให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับผิดชอบ ประสบความสำเร็จในระดับดีหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว

โดยผลการคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอมริกา พบว่าให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody ในระดับที่สูงถึง 1:3000 ขั้นตอนต่อไปเตรียมทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้า

"เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีวัคซีนโรคโควิด-19 ใช้แล้ว ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทย" นายสุวิทย์ กล่าว

รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้มีการประสานเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดสอบในคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล รวมทั้งได้ประสานกับบริษัท Bionet Asia ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไทย เตรียมการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่สุดในประเทศไทย และนำมาใช้ช่วยคนไทยในการป้องกันโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการบริหารจัดการให้แน่ใจว่าจะมีวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและจำนวนเพียงพอ ซึ่งต้องเตรียมการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตควบคู่กันไป เช่น การเตรียมโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งต้องเตรียมการให้เหมาะสมจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศภายในปีหน้าได้หากประสบความสำเร็จ

ขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิดและอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วอย่างน้อย 5 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน และแคนาดา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 63)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0