ครม. มีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็น “การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์”
วันที่ 3 เมษยน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็น “การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์” ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ โดยค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา งบประมาณดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) งบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 จำนวนประมาณ 2,000 ล้านบาท
2) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่าง ๆทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่ยังคงมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันในหลักร้อยคนขึ้นไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ เวชภัณฑ์ ชุดตรวจวินิจฉัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เห็นได้ว่าปริมาณ N95 หรือ PPE ไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นว่าการสนับสนุนผลจากการวิจัยด้านอุปกรณ์ ทางการแพทย์เป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยได้สนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากผลงานวิจัย เช่น N95, PPE
เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุก โดยการบริหารจัดการงานวิจัยที่เป็นโครงการเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศที่ใช้ในการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย การคาดการณ์การระบาดของเชื้อ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการระบาดในวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เองในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ใช้นวัตกรรมการวิจัยดังกล่าว รวมทั้งภาคเอกชนที่มีกำลังในการผลิตเป็นจำนวนมาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด มหาวิทยาลัย ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้น ประเด็นการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ 4 ประเด็น ดังนี้
1. หน้ากากทดแทน N95 (N95-equivalent) ที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ
1.1 การพัฒนาโครงหน้ากาก N95 และการทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุกรองชนิดต่าง ๆ ให้สามารถกรอง PM2.5 ได้ร้อยละ 95 มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 400,000 ชิ้นต่อปี โดยจะมีการทดสอบมาตรฐานในเดือนเมษายน 2563
1.2 การประยุกต์ใช้ Silicone mask มาดัดแปลงเพิ่มแผ่นกรอง HEPA filter ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานสามารถกรองป้องกันเชื้อได้มากกว่าหน้ากากชนิด N95 มีกำลังการผลิต 10,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน (สิงหาคม 2563)
1.3 การพัฒนาหน้ากาก 2 รูปแบบ คือ (1) หน้ากากบรรจุแผ่นกรองอากาศ HEPA filter เป็นหน้ากากผ้าสปันบอนด์แบบ Non-Woven อยู่ในระหว่างการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด มีกำลังการผลิต 1,000 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 100,000 ชิ้นภายใน 3 เดือน (มิถุนายน 2563) และ (2) หน้ากาก Nano ใช้นวัตกรรมนาโนและแผ่นกรองอากาศนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 200 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน
1.4 การพัฒนาเครื่องมือเพื่อขยายการผลิตแผ่นกรองเส้นใยนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 720 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้เป็น 5,700 ชิ้นต่อเดือน โดยจะเริ่มผลิตได้หลังจากที่สามารถพัฒนาเครื่องได้เสร็จสิ้นแล้ว
2. อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ดังนี้
2.1 หน้ากากแรงดันบวก (Powered air-purifying respirator (PAPR)) ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีแรงดันบวกภายในประมาณ 3 – 7 ปาสคาล เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถผลิตได้จำนวน 1,000 ชุดโดยจะทยอยส่งมอบได้เดือนละ 200 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 และดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำแม่พิมพ์เพื่อให้สามารถผลิต PAPR ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมาย 10,000 ชุด ภายในเวลา 2 – 3 เดือน
2.2 Surgical gown and cover all โดยในเบื้องต้นสามารถผลิตได้ 40,000 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 เพื่อจะส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรม โดยงบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณขององค์การเภสัชกรรม และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดเป็น Cover all ต่อไป
3. เครื่องช่วยหายใจ (Ventilators) โดยการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ได้เตรียมการสำหรับการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ ดังนี้
(1) การสร้างฐานข้อมูลในการแชร์เครื่องช่วยหายใจระหว่างโรงพยาบาลและพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับปริมาณคนไข้
(2) การจัดหาอุปกรณ์ประกอบ (Accessories) แบบสิ้นเปลืองของเครื่องช่วยหายใจ
(3) การประสานงานกับผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสั่งซื้อจำนวน ประมาณ 1,000 ชิ้น
(4) การซ่อมแซมเครื่องช่วยหายในที่มีอยู่เดิม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ
(5) การเร่งพัฒนาเครื่องช่วยหายใจทั้งแบบ medium-end โดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
4. ห้องตรวจแยกโรคแรงดันลบ (Negative-pressure facilities) โดยมีโครงการต้นแบบ ได้แก่
(1) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน สนับสนุนดำเนินงานที่โรงพยาบาลราชวิถี
(2) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
(3) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. การสนับสนุนด้านอื่นๆ
5.1 การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันให้ทุนวิจัยเร่งด่วนเรื่องวัคซีนไปแล้ว 4 โครงการ ได้แก่
(1) การพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
(2) การสร้าง S-glycoprotein vaccine ป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
(3) การพัฒนา COVID-19 วัคซีนชนิดเชื้อตายใน Vero cell (ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล)
(4) การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ในส่วนการประสานงานกับต่างประเทศ ได้จัดให้มีทีมนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ติดตามความก้าวหน้าและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน เพื่อนำมาต่อยอดเข้ากับโครงการวิจัยข้างต้นหรือให้ทุนวิจัยในโครงการใหม่เพิ่มเติมได้อย่างทันที
5.2 การดำเนินงานในส่วนชุดตรวจ ดังนี้
(1) การพัฒนาชุดตรวจมาตรฐานแบบ RT-PCR เพื่อสนับสนุนห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้ส่งมอบแล้ว 20,000 ชุด และมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน
(2) การสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจแบบ LAMP ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้น จำนวน 3 โครงการ จะเริ่มได้น้ำยาตรวจในเดือนเมษายน 2563 และสนับสนุน/ทดแทน ชุดตรวจแบบ RT-PCR
(3) การพัฒนาชุดตรวจแบบ CRISPR-cas ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสั้นลงขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ
5.3 การพัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินงานโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ
(1) ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยโปรแกรม DDCcare ร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) ระบบ TeleHealth โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน
(3) ระบบ Logistics เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ระหว่างผุ้ใช้และ supplies โดยทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล วช. และกระทรวงสาธารณสุข
(4) ระบบ MELB Platform เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของต่าง ๆ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
5.4 การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น
ผลกระทบ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ขาดแคลนไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ทำให้ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ ตลอดจนในอนาคตหากยังไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชุดตรวจวินิจฉัยที่มีอยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอ การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เอง
ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์สำหรับป้องกันตนเอง รวมทั้งการมีชุดตรวจที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพื่อที่จะได้วินิจฉัยผู้ป่วยได้เร็วก็จะทำให้เกิดการรักษาและดูแลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งทำให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้