ในขณะที่ภาพรวมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค และศูนย์ปฏิบัติการด้านวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัมนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า อินเดีย ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนฮ่องกง การระบาดระลอกสองพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าระลอกแรก เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกับยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดของการระบาดระลอกแรก ส่วนในอาเซียนนั้น ฟิลิปปินส์ยังคงน่าเป็นห่วง
แต่สำหรับประเทศไทย มีข่าวดีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยในการถ่ายทำสารคดีความสำเร็จในการจัดการการควบคุมและป้องกันโควิด-19 โดยมีการถ่ายทำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสองประเทศที่ได้รับเลือกถ่ายทำสารคดีชุดนี้ โดยอีดประเทศหนึ่งคือ นิวซีแลนด์ ซึ่งสารคดีชุดนี้จะเผยแพร่ไปทั่วโลก
อีกข่าวคือสำนักข่าวบลูมเบิร์กยังจัดอันดับให้ไทยจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา 75 ประเทศ โดยอันดับ 1-3 คือ ไต้หวัน บอตสวานา และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศจีนเป็นอันดับที่ 5 โดยการจัดอันดับครั้งนี้ใช้ตัวชี้วัด คือ อัตราผู้เสียชีวิต การเปรียบเทียบการดำเนินกิจกรรมของประชาชนกับช่วงก่อนโควิด และการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น
กระนั้นหลังทำสงครามกับสัตรูที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อไวรัสโควิด มาถูกทิศถูกทางจนสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งแล้ว ในจังหวะสะดุดขาจากกรณีวีไอพี ทหารอียปต์และลูกทูตซูดาน รัฐบาลไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับแฟลชม็อบ ภายใต้การนำของกลุ่ม"เยาวชนปลดแอก" (Free YOUTH) และสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท. ) ที่กำลังแพร่กระจายจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่นับวันก็จะขยายตัวไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของฝ่ายความมั่นคง มีการขยายพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ
ทว่าล่าสุดมีประเด็นที่น่าสนใจ ในการแถลงข่าวของ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตาเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุถึง เหตุผลที่ขยายพ.ร.ก.ออกไป 1 เดือน ซึ่งเป็นความต้องการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแพทย์ คงกฎหมายควบคุมไประยะหนึ่ง เพราะถ้าดูจากสถานการณ์ทั่วโลกยังมีการติดเชื้อ เฉลี่ยวันละเกือบ 2 แสนคนต่อวัน เป็นสถานการณ์ที่ยังรุนแรง และรายล้อมประเทศไทย จึงจำเป็นต้องใช้ออกไปสักระยะ เพราะเรายังต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับแรงงานจากต่างชาติและมาตรการผ่อนคลายการท่องเที่ยว อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประชุม และถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จ้องอยู่บนความปลอดภัยของสาธารณสุข ซึ่งเครื่องมืออย่างเดียวที่จะประกันได้ คือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องขยายอีก 1 เดือน และยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่มีกฎหมายตัวอื่นรองรับ เข้าใจว่าต้องปรับปรุงพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังเร่งทำให้เร็วที่สุด ถ้าเสร็จก็จะใช้กฎหมายเพียงฉบับเดียวครอบคลุมท้งหมด
“ยืนยันว่าการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน จะไม่ใช้มาตรา 9 ออก สามารถชุมนุมได้ ไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่ใช้เพื่อออกควบคุมโควิดม-19 แต่การชุมนุมก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายปกติ โดยจะนำเสนอครม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ใจเพื่อมั่นใจว่าเราใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะสุขจริงๆ”
เราเห็นว่า ท่าทีของฝ่ายความมั่นคง ที่ส่งสัญญาณไม่สกัดกั้นการชุมนุมถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนความใจกว้างของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ก็ทำลายเงื่อนไขความชอบธรรมในการต่อต้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปในคราวเดียวกัน ทำนองยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หากแต่ยังตั้งการ์ดสูงเอาไว้เผื่อสถานการณ์ไม่คาดฝัน และที่ต้องระมัดระวังคือการสร้างสถานการณ์
ความเห็น 0