ตามที่ มทร.ธัญบุรี ได้ส่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศกว่า 150 หน่วยงานส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด
"ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด"อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่าเป็นที่น่ายินดีที่ มทร.ธัญบุรี ได้รับรางวัล“Platinum Award” พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model ชุดโครงการบริหารจัดการของเสีย โครงการการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เรื่อง “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งการและเคหะสิ่งทอ (ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)”
โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และผลงานจากชุดโครงการ การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี เรื่อง “การพัฒนาวัสดุผสมจากไผ่เหลือทิ้ง (Development of bamboo composites from bamboo waste)” โดย ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งสองชุดโครงการหลักได้รับทุนสนับสนุนจาก สกสว.
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ส่วนการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2563 ผลงานของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ยังได้รับ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน จากการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2563 โดยมีผลงานที่ส่งเข้าประกวด 45 หน่วยงาน 142 ผลงาน
ดังนี้ รางวัลเหรียญทอง ประเภทการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลงานเรื่อง “วัฒนธรรมสีเขียว” โดย นางสาววรวินันท์ ลอยเมฆ รางวัลเหรียญเงิน ประเภทการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ผลงานเรื่อง “การพัฒนา mobile Application บนระบบปฏิบัติการ Android เรื่องศาสตร์และศิลป์การดนตรีไทย” โดย นายน่านฟ้า เสรี ,นางสาวบุษบา บุญเกิด และนางสาววิลาวัณย์ ม่วงขาว รางวัลเหรียญเงิน ประเภทการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะพลังงานและสิ่งแวดล้อมผลงานเรื่อง “นวัตกรรมอนุภาคนาโนพอลิเมอร์สองหน้าที่สำหรับสารต้านเชื้อจุลชีพและลดแรงตึงผิวชนิดอนุภาคของน้ำมันหล่อเย็น” โดยนางสาวเนตรนภา กำลังมาก.
ความเห็น 0