โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ‘แรงงานนอกระบบ’สำคัญ

แนวหน้า

เผยแพร่ 26 ส.ค. 2563 เวลา 19.00 น.

“แรงงานนอกระบบ (Informal Labour)” ข้อมูลจากรายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2562 ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้นิยามไว้ว่าหมายถึง “ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ” ตรงข้ามกับแรงงานในระบบ เช่น ข้าราชการที่มีสวัสดิการข้าราชการ หรือพนักงาน-ลูกจ้างอื่นๆของรัฐตลอดจนพนักงานบริษัทเอกชนที่มีประกันสังคม

“แรงงานนอกระบบคือแรงงานส่วนใหญ่ของสังคมไทย” ประเทศไทยมีคนทำงานราว 37.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 20.3 ล้านคน “คุณลักษณะของแรงงานนอกระบบ” ประกอบด้วย 1.อายุมาก โดยพบว่า แรงงานในระบบจะอยู่ในช่วงอายุ 20-44 ปี แบ่งเป็น 20-24 ปี 1.6 ล้านคน,25-29 ปี 2.7 ล้านคน, 30-34 และ 35-39 ปี ช่วงอายุละ 2.5 ล้านคน

สวนทางกับแรงงานนอกระบบ ที่เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีแนวโน้มมากขึ้น โดยช่วงอายุ 40-44 ปี อยู่ที่ 2.2 ล้านคน,45-49 และ 50-54 ปี อยู่ที่ช่วงอายุละ 2.7 ล้านคน และ 55-59 ปี2.6 ล้านคน “ที่น่าสนใจคือสัดส่วนของแรงงานนอกระบบที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีมากกว่าแรงงานในระบบในช่วงอายุเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ” แรงงานในระบบที่อายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ราว 5 แสนคน ส่วนนอกระบบมีถึง 3.7 ล้านคน

กับ 2.การศึกษาน้อย แรงงานในระบบส่วนใหญ่เรียนจบระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรีขึ้นไป) มีถึง 6 ล้านคน รองลงมา มัธยมศึกษาตอนปลาย (หรือเทียบเท่า เช่น ปวช.) 3.4 ล้านคน และอันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) 2.9 ล้านคน สวนทางกับแรงงานนอกระบบที่พบว่า ส่วนใหญ่จบไม่ถึงระดับประถมศึกษา (ไม่ถึง ป.6) มีมากถึง 5.7 ล้านคน รองลงมาจบเพียงชั้นประถมศึกษา (ป.6) 5.5 ล้านคน และอันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนต้น(ม.3) 3.4 ล้านคน นอกจากนี้ มีแรงงานนอกระบบเพียง 1.9 ล้านคนที่จบถึงระดับอุดมศึกษา หรือน้อยกว่าแรงงานในระบบถึง 3 เท่า

“แรงงานนอกระบบอยู่ในภาคเกษตรและประมงมากที่สุดถึง 10.9 ล้านคน” รองลงมา 4.5 ล้านคน เป็นพนักงานบริการหรือผู้จำหน่ายสินค้า ส่วนอันดับ 3 คือ ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 1.6 ล้านคน และอันดับ 4 ผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน 1.5 ล้านคน ส่วนอาชีพ 4 อันดับแรก ของแรงงานในระบบ อันดับ 1 พนักงานบริการหรือผู้จำหน่ายสินค้า 2.9 ล้านคนรองลงมา ผู้ควบคุมโรงงานและเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 2.7 ล้านคน อันดับ 3 ผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน 2.3 ล้านคนและอันดับ 4 ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 2.2 ล้านคน

ที่งานเสวนา “COVID-19 ผลกระทบการจ้างงานในสังคมผู้สูงอายุ” จัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจากศึกษากลุ่มแรงงานนอกระบบ พบว่า“เมื่อมีวิกฤติมักมีแรงงานหลุดออกจากระบบ” เช่น วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 และล่าสุดกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 วันนี้ก็ไม่ต่างกัน

“แรงงานหลุดออกจากระบบแล้วไปไหนต่อ?” อย่างแรกคือขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม (Social Safety Net)จำพวกญาติสนิทมิตรสหาย ต่อมาเมื่อเริ่มเป็นแรงงานนอกระบบพบว่าแต่ละคนมักทำงานมากกว่า 1 อาชีพ “สิ่งที่น่าเสียดายคือ มีเพียงทักษะด้านการบริหารจัดการเท่านั้นที่ติดตัวมาจากงานในระบบแล้วใช้กับงานนอกระบบได้ ในขณะที่ทักษะเชิงเทคนิคต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้ได้” อนึ่ง หากเคยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ (Semi-Skilled หรือ Skilled Labour) มาก่อนจะมีการลงทุนหรือพัฒนาให้งานนอกระบบที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

“เป็นแรงงานนอกระบบต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง?” ซึ่งมีหลายประการ 1.สวัสดิการ เช่น ประกันสังคม 2.การเข้าถึงแหล่งทุนแรงงานในระบบนั้นเข้าถึงได้ง่ายกว่า 3.ทักษะการทำงาน ต้องไปเรียนรู้ใหม่หมดเพราะทักษะเดิมที่เป็นแรงงานในระบบไม่สามารถนำมาใช้กับงานนอกระบบได้ 4.โอกาสกลับเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบ โดยเฉพาะหากเป็นผู้มีอายุมากจะเป็นไปได้ยาก

มนทกานต์กล่าวต่อไปว่า แม้จะไม่สนับสนุนให้คนออกจากการเป็นแรงงานในระบบมาทำงานนอกระบบ แต่หากจำเป็นต้องออกมาเป็นแรงงานนอกระบบจริงๆ การเตรียมตัวใน 4 ด้านตั้งแต่ยังทำงานในระบบจะช่วยลดผลกระทบได้มาก ประกอบด้วย 1.ทุน เห็นได้จากผู้ที่วางแผนชีวิตไว้ว่าเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป จะลาออกจากงานประจำในระบบไปทำธุรกิจส่วนตัว คนกลุ่มนี้จะเก็บออมเงินไว้ล่วงหน้า เมื่อออกจากงานจะไม่เดือดร้อนมากนัก ในขณะที่ผู้ที่ออกจากงานอย่างกะทันหัน แม้จะได้เงินก้อนสุดท้ายในวันถูกเลิกจ้าง ก็คงต้องคิดหนักว่าจะนำไปทำอะไรดี

2.เครือข่าย หมายความรวมทั้งที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยทำงานในระบบ และสร้างขึ้นใหม่หลังย้ายออกมาเป็นแรงงานนอกระบบแล้ว และยุคนี้เทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เครือข่าย
มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น 3.ทักษะ ทั้งของเก่าจากอาชีพเดิมที่ทำมาต่อยอดในอาชีพใหม่ และทักษะใหม่ที่เรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อเข้าสู่อาชีพใหม่แล้ว เช่น คนเคยเป็นผู้จัดการในสำนักงานแล้ววันหนึ่งต้องมาเป็นเกษตรกร ก็ต้องเรียนรู้ใหม่พอสมควร และ 4.ความรู้ ในการเป็นแรงงานนอกระบบก็มีความรู้เฉพาะทางที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม

สำหรับ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ 1.ก่อนออกนอกระบบ เช่น ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตด้านอื่นๆ (Work-Life Balance) เพื่อลดความตึงเครียดในการทำงานอันเป็นการดึงแรงงานให้อยู่ในระบบต่อไปขณะเดียวกันต้องกระตุ้นให้แรงงานเพิ่มพูนทักษะ(Upskill-Reskill) ซึ่งนอกจากทักษะการทำงานที่รองรับกับเทคโนโลยีหรือตลาดใหม่ๆ แล้ว “ทักษะการประเมินความเสี่ยง” ก็สำคัญไม่แพ้กัน

“อันนี้เป็นกรณีศึกษา (Case Study) เสนอมาเองเลยว่า จริงๆ เขา (แรงงาน) ไม่เคยรู้เรื่องการประเมินความเสี่ยง รวมถึงการวางแผนรับมือความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพในระบบ หรือเมื่อออกมาภาคนอกระบบแล้ว อันนี้เป็นบทบาทของกระทรวงแรงงานถ้าจะเตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มที่สมัครใจออกระบบ อย่างแรกคือเขาอยากได้เรื่องของการออม วางแผนการทำงานในภาคนอกระบบ เช่น มีศูนย์สร้างทางเลือกการทำงานนอกระบบ (Matching)” มนทกานต์ กล่าว

และอีกด้านหนึ่ง 2.เมื่อออกมาอยู่นอกระบบแล้ว เช่น รักษาสิทธิประกันสังคมไว้ เดิมอยู่ในระบบเป็นมาตรา 33 แต่หากออกมาอยู่นอกระบบและไม่ต้องการเสียสิทธิ์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นมาตรา 39 (ซึ่งผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งจากจำนวนเดิมในมาตรา 33) ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพนอกระบบ ดังจะเห็นหลายอาชีพ อาทิ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คนขับแท็กซี่-ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีสมาคมอาชีพของตนเอง

รวมถึงส่งเสริม “การดูแลสุขภาพ” เตรียมตัวตั้งแต่ยังอยู่ในระบบและต่อเนื่องเมื่อออกมาอยู่นอกระบบ!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น