ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมักประสบกับปัญหาจากการขาดโปรตีนในอาหารหยาบสำหรับโคนม ทำให้จำเป็นต้องใช้อาหารข้นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบสูงขึ้นการปลูกถั่วล้มลุก เช่น ถั่วฮามาต้าร่วมกับหญ้า มักประสบความล้มเหลวเนื่องจากถั่วไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งขันกับหญ้าได้
ศาสตราจารย์ ดร.สายัณห์ ทัดศรี และคณะ ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศึกษาการนำกระถินซึ่งเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันดีมาปลูกร่วมกับหญ้า และปล่อยโคนมเข้าไปแทะเล็มเปรียบเทียบกับการปลูก เฉพาะล้วน ๆ ผลการทดลองพบว่า โคนมที่ปล่อยให้แทะเล็มแปลงหญ้าผสมกระถินนอกจากจะให้ผลผลิตน้ำนมดิบสูงกว่าให้แทะเล็มกินแปลงหญ้าล้วน ๆ แล้ว (11 กิโลกรัม และ 14 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน) ความคงทนของการให้น้ำนมดิบยังสูงกว่าอีกด้วย กล่าวคือโคนมที่ให้กินแต่หญ้าล้วน ๆ น้ำนมดิบที่ผลิตได้จะลดลงสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัมต่อตัวต่อสัปดาห์ ขณะที่โคนมนี้กินแปลงหญ้าผสมกระถินจะลดลงเพียง 0.3 กิโลกรัมต่อตัวต่อสัปดาห์ กระถินไม่มีพิษต่อโคนมเพราะโคนมในไทยส่วนใหญ่มีจุลินทรีย์ทำลายพิษจากกระถินได้ วิธีการปลูกกระถินร่วมกับหญ้า ไม่มีความยุ่งยาก ใด ๆ ทั้งสิ้น และยังสามารถขึ้นแข่งขันกับหญ้าได้ดีอีกด้วย เกษตรกรอาจจะปลูกกระถิน 1-2 แถวต่อหญ้า 1 แถว (1:1) หรือปลูกกระถิน 1 แถว ต่อหญ้า 2 แถว (1:2) ก็ได้ อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรเกรงว่าจะมีปัญหาด้านการจัดการ จะปลูกกระถินล้วน ๆ เป็นแนวรั้วหรือเป็นแปลง แล้วตัดส่วนยอดมาให้โคนมกินวันละ 4-5 กิโลกรัม น้ำหนักสดหรือ 1.5-2.00 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งร่วมกับหญ้าก็สามารถลดอาหารข้นได้มากกว่า 50 % รายละเอียดและเทคนิควิธีการปลูกและการจัดการติดต่อได้ที่ศาสตราจารย์ ดร.สายัณห์ ทัดศรี ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900 โทร. 5793130
1 ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
ความเห็น 0